posttoday

สหภาพการท่าเรือฯ หัวร้อน ขู่จัดม๊อบประท้วงภาครัฐ ปมโมเดลคลองเตย

04 พฤศจิกายน 2562

สหภาพกทท. ห่วงโปรเจ็คพัฒนาท่าเรือคลองเตย รัฐยกท่าเรือให้เอกชน 90 ปี ขณะที่แผนย้ายชุมชนคลองเตยกระทบชาวบ้านนับล้านคนแฉกทท.จ่ายค่าย้ายแค่ 2 แสนบาท จากเดิม 2 ล้านบาท

สหภาพกทท. ห่วงโปรเจ็คพัฒนาท่าเรือคลองเตย รัฐยกท่าเรือให้เอกชน 90 ปี ขณะที่แผนย้ายชุมชนคลองเตยกระทบชาวบ้านนับล้านคนแฉกทท.จ่ายค่าย้ายแค่ 2 แสนบาท จากเดิม 2 ล้านบาท

นายศักดิ์ชาย กุลสนั่น ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือคลองเตยเป็นการเอื้อกลุ่มทุนเอกชนอย่างชัดเจน พบว่ามีการเอื้อผลประโยชน์ในเชิงสัญญาสัมปทานที่มีการกำหนดอายุสูงสุดให้เอกชนถึง 90 ปี ด้วยเงื่อนไขการจ่ายค่าเช่าเป็นเศษเนื้ออันน้อยนิดแค่ 5-10% ของรายได้ทั้งหมด พร้อมกับรูปแบบการตั้งบริษัทลูกโดยให้เอกชนถือหุ้นมากกว่า 51% เท่ากับว่าเอกชนจะมีอำนาจตัดสินใจทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเป็นการฮุบสมบัติชาติเอาไว้ในกำมือ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งที่ กทท.เป็นเจ้าของพื้นที่และท่าเรือกรุงเทพเป็นสมบัติของชาติ

หากผู้บริหารของกทท.ยังนิ่งนอนใจไม่รับฟังเสียงของพนักงานและชาวบ้าน สหภาพฯจะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกให้ผู้บริหารและรัฐบาลรู้ อาจเป็นรูปแบบการประท้วงก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องจะต้องต่อสู้กันถึงที่สุด อีกไม่นานจะได้เห็นแน่นอนถ้ารัฐบาลยังพยายามดันทุรังกับเรื่องนี้ ถ้าพัฒนาท่าเรือให้มีโลจิสติกดีขึ้น ทำให้พี่น้องชาวบ้านมีงานทำทุกคนก็เห็นด้วย แต่การพัฒนาเมืองใหม่นั้นจะทำให้ชาวบ้านตกงานกันหมด เพราะเอกชนจะเอาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานทั้งหมด

“ผมขอประณามพวกที่รับใช้กลุ่มทุน ขอให้คำนึงถึงชาติบ้านเมืองบ้าง บทเรียนไม่เพียงพออีกหรือ ประชาชนเดือดร้อนไม่พออีกหรือ กลุ่มทุนได้ประโยชน์ไป อิ่มหมีพลีมันกันไป คนที่ผลักดัน ขอถามว่า คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าประชาชนทนไม่ไหวรัฐบาลเตรียมตัวเดือดร้อน ยุคนี้ประชาธิปไตย ทุกคนมีอิสระการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การเคลื่อนไหวของเราจะต้องเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกลุ่มทุน คนที่ชอบเรื่องนี้มีแต่พวกกลุ่มทุนและเครือข่ายที่ตอบสนองกลุ่มทุน ในนามสหภาพการท่าเรือ เราจะอยู่ข้างพี่น้องชุมชน”นายศักดิ์ชายกล่าว

นายศักดิ์ชาย กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจกทท. คล้ายกับที่รัฐบาลพยายามทำกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีรูปแบบคล้ายกันคือ ลดอำนาจหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ด้านนโยบาย กำกับดูแลและกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาริดรอนอำนาจหน่วยงานเดิมเช่น การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางและการจัดตั้งบริษัทลูกของการท่าเรือ ดังนั้นตนจึงขอประณามพวกที่รับใช้กลุ่มทุน พนักงานทุกคนคำนึงถึงสมบัติชาติ อยากเห็นการท่าเรือพัฒนารูปแบบการขนส่งเพื่อเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของอาเซียน ไม่ใช่เป็นการเอาสมบัติของชาติไปขายให้กลุ่มทุนกอบโกยผลประโยชน์

ด้านนางพรเพ็ญ ผ่องอำไพ ผู้นำชุมชนหัวโค้งสลัมคลองเตย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยวิตกกังวลและเป็นทุกข์อย่างมาก ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ชาวบ้านที่สลัมชุมชนคลองเตยมีมากกว่า 1 ล้านชีวิตที่จะต้องได้รับความเดือดร้อนจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ทั้งการย้ายถิ่นฐาน การเสียอาชีพทำกินที่เคยมี ทั้งนี้การพัฒนาเมืองใหม่บริเวณท่าเรือกรุงเทพนั้นหน้าฉากล้วนเป็นสิ่งส่วยงามทั้งเรื่องการพัฒนาที่ท่องเที่ยว การไม่มีสลัมชุมชน ทว่าหลังฉากมีแต่ความทุกข์ของชาวบ้าน ความสำเร็จแบบไหนกันที่เหยียบย่ำคนจน คงไม่ใช่เรื่องที่สวยหรูเหมือนในคำโฆษณา อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ กทท.ยิ่งใหญ่มาได้เพราะมีแรงขับเคลื่อนจากแรงงานรากหญ้า ซึ่งล้วนเป็นคนในชุมชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะงานแบกหามภายในท่าเรือซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ทำ

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการอาศัยอยู่ในชุมชนเดิม ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของเรา อยู่กันแบบครอบครัวใกล้ชิดเป็นชุมชน เราไม่เคยอยู่แบบบ้านใครบ้านมัน ถ้ามีทางเลือกเราก็ไม่อยากอยู่ที่นี่หรอก เราไม่มีทางเลือก ส่วนใหญ่ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ เงินเก็บมีน้อยมาก เราเป็นหนี้ แต่ละบ้านเป็นครอบครัวใหญ่มีลูกหลานอยู่รวมกันหลายชีวิต แต่การย้ายขึ้นไปอยู่คอนโดห้องคับแคบรองรับได้ไม่เกิน 4 คน มันจะไปพอได้อย่างไร ส่วนการย้ายไปหมู่บ้านจัดสรรค์ที่หนองจอกนั้นต้องมีค่าต่อเติมบ้านอีกเป็นเงินนับหลายแสนบาทอย่าว่าเงินแสนเลย บางครอบครัวเงินพันบาทยังหายาก ขณะที่การให้เงินสดนั้น ตอนแรกตกลงกันที่ 2 ล้านบาท แต่ล่าสุดกลับลดลงมาเหลือ 2 แสนบาท เป็นตัวเลขที่ชาวบ้านรับไมได้” นางพรเพ็ญกล่าว

นางพรเพ็ญ กล่าวต่อว่า ประชามติที่กทท.จัดทำโดยอ้างว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยินยอมที่จะย้ายออกจากพื้นที่นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการเก็บประชามติมีการปั้นโหวตใช้คะแนนเสียงเท็จมาแอบอ้าง เป็นการมัดมือชกให้ชาวบ้านย้ายออกไปด้วยหลากหลายรูปแบบ ทั้งการ นำภำที่ชาวบ้านยกมือซักถาม ไปอุปโหลกว่าเป็นการยกมือโหวตเห็นด้วย ตลอดจนกีดกันไม่ให้แกนนำชาวบ้านที่เป็นผู้นำชุมชนไปมีส่วนร่วมในการประชุมสรุปข้อรับฟังรวมถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ถึงขั้นในผลสำรวจระบุว่า ไม่มีการโหวตจากประชากรเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะประชากรสองกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนคิดเป็นจำนวนมากของประชากรทั้งหมด ดังนั้นชาวบ้านพร้อมจะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรม