posttoday

มาแล้ว!! ขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง "ศักดิ์สยาม" บอกพร้อมให้บริการ ม.ค. 64 ค่าโดยสาร 14-47 บาท

02 พฤศจิกายน 2562

พร้อมเร่งศึกษาจัดตั้งบริษัทลูก จ่อเสนอ ครม. ปลายปีนี้ ด้าน รฟท.เชื่อปีแรกคว้าผู้โดยสาร 8.6 หมื่นคน/วัน เคาะประมูลสายสีแดงส่วนต่อขยาย 2.4 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 เดือน พร้อมเปิดร่างสัญญาไฮสปีดอีอีซี 6 พ. ย. นี้

พร้อมเร่งศึกษาจัดตั้งบริษัทลูก จ่อเสนอ ครม. ปลายปีนี้ ด้าน รฟท.เชื่อปีแรกคว้าผู้โดยสาร 8.6 หมื่นคน/วัน เคาะประมูลสายสีแดงส่วนต่อขยาย 2.4 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 เดือน พร้อมเปิดร่างสัญญาไฮสปีดอีอีซี 6 พ. ย. นี้

มาแล้ว!! ขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง "ศักดิ์สยาม" บอกพร้อมให้บริการ ม.ค. 64 ค่าโดยสาร 14-47 บาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบรางที่มีศักยภาพ

โดยในปัจจุบันมีประชาชนใช้การขนส่งทางรางในแต่ละวันมากขึ้น จากปัจจัยความสะดวก ทันสมัย ตรงต่อเวลา พร้อมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางกับการคมนาคมรูปแบบอื่น รวมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจของประเทศ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชันนั้น จึงถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาระบบรางของประเทศ พร้อมทั้งเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางมาจากบางซื่อไปตลิ่งชัน

โดยในอนาคตจะมีส่วนต่อขยายไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตอีกด้วย รวมถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนด้วย โดยอัตราค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นได้ทำการศึกษาไว้จะอยู่ที่ 14-47 บาท สำหรับ สำหรับระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นนั้น
ขณะนี้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะมีการปรับเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในส่วนของขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้น จะมีทั้งสิ้น 25 ขบวน โดย 1 ขบวนมี 12 ตู้ รองรับได้ 300 คน/ตู้ หรือ 3,600 คน/ขบวน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะให้เปิดให้บริการในช่วง ม.ค. 2564 อย่างแน่นอน

ขณะที่ การจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท.ที่จะเข้ามาบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาของคณะทำงานโดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งแนวทางความพร้อมของ รฟท.ในการดำเนินการ บุคลากร รวมถึงเงินลงทุนในการจัดตั้งบริษัท และแนวทางที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ที่จะเข้ามาบริหารโครงการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พิจารณาอนุมัติต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับร่างสัญญาโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่าสามารถเปิดเผยร่างสัญญาให้สาธารณะและคนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยจะเปิดเผยในวันที่ 6 พ.ย. นี้ ไม่มีอะไรลับลมคมในแน่นอน ทุกอย่างเป็นไปตาม RFP

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และสถานีกลางบางซื่อนั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 นั้น มีขอบเขตการดำเนินงานและความก้าวหน้าของงานก่อสร้างทั้งหมด

กล่าวคือ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความก้าวหน้า 91.11% ในส่วนของสัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้า 62.40% โดยการต้อนรับขบวน

สำหรับรถไฟฟ้าชุดแรก 2 ขบวนนั้น อยู่ในสัญญาที่ 3 เป็นของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วย ขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin

ทั้งนี้ รฟท. ได้รับมอบรถไฟฟ้า จำนวน 10 ตู้ ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน โดยในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563

หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ภายในต้นปี 2564 สามารถเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ในการขนส่งอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการ ขบวนรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าในปีที่เปิดดำเนินการจะมีจำนวนผู้โดยสารในปี 2564 จำนวน 86,620 คน/วัน ปี 2670 จำนวน 113,031 คน/วัน และปี 2575 จำนวน 135,129 คน/วัน

ขณะที่ แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า สำหรับโครงการสายสีแดงส่วนต่อขยาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.57 พันล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7.46 พันล้านบาท

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณา TOR และราคากลาง ไปแล้ว คาดว่าจะมีประชุมอีก 2 ครั้งก่อนที่จะนำร่าง TOR เปิดประชาพิจารณ์บนเว็บไซต์ในช่วงเดือน ธ.ค. จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน ม.ค. 2563