posttoday

กำลังซื้อยังไม่ฟื้น!! ฉุดดัชนีเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดต่ำสุดรอบ5 ไตรมาส

29 ตุลาคม 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดไตรมาส 3 อยู่ที่ 51.0 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส ลุ้นไตรมาสสุดท้ายขยับดีขึ้นดันจีดีพีทั้งปีโต 2.8 % แนะชิมช้อปใช้ เพิ่มร้านค้าย่อย เพิ่มแอปเป๋าตัง

ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดไตรมาส 3 อยู่ที่ 51.0 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส ลุ้นไตรมาสสุดท้ายขยับดีขึ้นดันจีดีพีทั้งปีโต 2.8 % แนะชิมช้อปใช้ เพิ่มร้านค้าย่อย เพิ่มแอปเป๋าตัง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade (โมเดิร์นเทรด) ไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 51.0 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยธรรมชาติ การส่งสัญญาณการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความขัดแย้งของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะการประท้วงในฮ่องกง และการท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงการแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ช

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.4 และเชื่อว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ไปแล้วและจะปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ดังนั้น จึงมองว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัว 3.1% และตลอดปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8% สอดคล้องกับการประเมินของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.

อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึง ปัญหาที่พบในการทำธุรกิจอันดับแรกคือ มาตรการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับรายได้ของธุรกิจ และ ขาดข้อมูลนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ของภาครัฐในปัจจุบันและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโมเดิร์นเทรด

ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ กระตุ้นกำลังซื้อภาคครัวเรือน ซึ่งกรณีของโครงการชิมช้อปใช้ ต้องการให้ลดข้อจำกัดในการใช้บริการ เช่น การเพิ่มร้านค้ารายย่อยให้ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มแอปเป๋าตังทุกแคชเชียร์ นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกระจายให้กับทุก Modern Trade แบบเท่าเทียมกันเพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

นายธนวรรธน์ กล่าวถึง กรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ของสินค้ากว่า 573 รายการ หรือคิดเป็นยอดเงิน 50-60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ากระทบส่งออกไทยเล็กน้อย แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิสามารถปรับตัวและหาตลาดใหม่ทดแทนได้ ดังนั้น จึงมั่นใจว่าไม่น่ากระทบยอดการส่งออกโดยรวมของไทยอย่างแน่นอน.