posttoday

โอกาสผู้ประกอบการไทยในตลาด อี-คอมเมิร์ซ 2020

16 ตุลาคม 2562

ไพรซ์ซ่า ชี้สงคราม E-Commerce ปี 2563 เทรนด์การทำตลาดยังขยายตัวในช่องทางเว็บไซต์-มาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดีย

ไพรซ์ซ่า ชี้สงคราม E-Commerce ปี 2563 เทรนด์การทำตลาดยังขยายตัวในช่องทางเว็บไซต์-มาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดีย

E-Commerce ย่อมาจาก Electronic Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกิจโดยซื้อขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งประโยชน์ของการทำธุรกิจ E-commerce นั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ต่ำ เพราะเนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่มีค่าเช่าพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังคนมาก

แถมยังสามารถนำสินค้าและบริการเข้าถึงคนหมู่มากได้ทุกที่ทุกเวลา ซื้อขายและชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้อย่างสะดวกสบายและง่ายดาย จึงทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี

ย้อนรอยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)

แน่นอนว่าปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังมาแรง อ้างอิงจากมูลค่าตลาด E-commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปีตามรายงานของ ETDA

  • มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2558 มีมูลค่าถึง 2,245,147.02 ล้านบาท
  • มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2559 มีมูลค่าถึง 2,560,103.36 ล้านบาท
  • มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2560 มีมูลค่าถึง 2,812,592.03 ล้านบาท
  • มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2561 มีมูลค่าถึง 3,150,232.96 ล้านบาท
  • คาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2565 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย น่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 22% เลยทีเดียว


ไม่ใช่แค่ตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น

นอกจากนี้การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังทำให้ ความต้องการบริการ E-Logistics เพิ่มขึ้นอีกด้วย จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่ามูลค่าตลาดโลจิสติกส์มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตสูงถึง 10-20% ต่อปี แยกเป็น 2 รูปแบบ คือการขนส่งระหว่างธุรกิจ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และการขนส่งโดยตรงถึงผู้บริโภค อาทิ Kerry, ไปรษณียร์ไทย, SCG Express, Lalamove, Flash Express,DHL เป็นต้น นำมาสู่การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน

สอดคล้องกับการเติบโตของ E-payment (การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ที่ภาพรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 35.7% โดยบริการที่เติบโต สูงสุด คือ บริการโอนเงินและการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Internet/Mobile banking)

ธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 3 ปี 2561 มีจำนวน 1,464 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 92 ล้านล้านบาท ปริมาณการใช้งานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงร้อยละ 35.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเช่นกัน (ข้อมูล: รายงานธุรกรรมการชำระเงิน ประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ธนาคารประเทศไทย)

โอกาสผู้ประกอบการไทยในตลาด อี-คอมเมิร์ซ 2020


อีคอมเมิร์ซครึ่งปีแรก 2562 เป็นอย่างไร ในมุมมองของ Priceza

จากผลการสำรวจของ บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้นำอันดับ 1 ด้านเครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคาในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนต่อเดือน เผยถึงประเภทสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุดในแพลตฟอร์ม ดังนี้

อันดับ 1 ได้แก่ สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม 27%
อันดับ 2 สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและแฟชั่น 17%
อันดับ 3 สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ของตกแต่งบ้าน 11% เป็นต้น

ทั้งนี้สินค้าในแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่ามีมากถึง 50 ล้านชิ้น ซึ่งมีแนวโน้มของจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2018 สูงถึง 29% แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่มากขึ้นของจำนวนสินค้า และจำนวนผู้ขาย สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้นทุกปีผ่านมุมมองของไพรซ์ซ่าได้อย่างชัดเจน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ภาพรวมในปีนี้ จนถึงปี 2020 เราจะได้เห็นการแข่งขัน และการนำเสนอบริการใหม่ๆของ "ดิจิทัล แพลตฟอร์ม" อย่างชัดเจน และดุเดือดขึ้นทุกๆปี ซึ่งตนเองคาดหวังว่าวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นในระดับอาเซียน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

"สำหรับเทรนด์ธุรกิจในปี 2020 นั้นมั่นใจว่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะมีมูลค่าเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะโอกาสของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่มาก ทั้งขายในเว็บไซต์ตัวเอง ขายในมาร์เก็ตเพลส และขายผ่านโซเชียลมีเดีย"