posttoday

ชาวสวนยางเฮ!! ครม.อัดเงิน2.4หมื่นล้านประกันราคายางล็อตแรก

15 ตุลาคม 2562

ครม.เคาะจ่าย 2.4 หมื่นล้านเดินหน้ามาตรการประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง อุ้มราคายาง 3 ประเภท 6 เดือน แบ่งจ่าย 3 งวด เริ่ม 1 พ.ย. นี้

ครม.เคาะจ่าย 2.4 หมื่นล้านเดินหน้ามาตรการประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง อุ้มราคายาง 3 ประเภท 6 เดือน แบ่งจ่าย 3 งวด เริ่ม 1 พ.ย. นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2562 ได้เห็นชอบมาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมกับเห็นชอบขยายอีก 4 มาตรการเพื่อยกระดับราคายางในระยะยาว

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ใช้วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท โดยให้ใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน จำนวน 2.34 หมื่นล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดๆไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยให้จ่ายคืนภายในระยะเวลา 5 ปี ปีละ 5,500 บาท ยกเว้นปีที่ 5 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด ส่วนอีก 234 ล้านบาท ให้การยางแห่งประเทศไทยเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน

สำหรับหลักเกณฑ์และข้อกำหนดดำเนินโครงการนั้น จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้ง เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง โดยประกันรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแต่ละชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี น้ำยางสด และยางก้อนถ้วยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย และเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน โดยกำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 – มี.ค. 2563

ส่วนราคาประกันใช้ราคาอ้างอิง ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/ก.ก. น้ำยางสด (ปริมาณเนื้อยางในน้ำยาง:DRC 100%) 57 บาท/ก.ก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม โดยแบ่งรายได้ให้เป็นเจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด

สำหรับช่วงเวลาการจ่ายเงินจะจ่ายเงิน 2 เดือน 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการโอนเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกำหนดจ่ายเงินเป็น 3 งวด งวดแรกระหว่างวันที่ 1 – 15 พ.ย. 2562 งวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 –15 ม.ค. 2563 และงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 – 15 มี.ค. 2563

“เกษตรกรที่จะร่วมโครงการนี้ต้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ก่อนวันที่12 ส.ค.2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กยท.กำหนด” น.ส.รัชดา กล่าว

สำหรับการขยายเวลาดำเนินการ 4 มาตรการเพื่อยกระดับราคายางในระยะยาว ประกอบด้วย 1.ขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาท ต่อไปอีก6 ปี ให้ดำเนินโครงการตั้งแต่ 2563-2569

2. ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท โดยให้ขยายระยะเวลาอีก 1 ปี ตั้งแต่ม.ค. 2563 - ธ.ค. 2564

3.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ขยายออกไปอีก 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 - 31 มี.ค. 2567 และ

4.ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ต่อไปอีก 3 ปี เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 – ก.ย. 2565 และเห็นชอบปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ