posttoday

'อนุทิน' บี้คมนาคม เอาให้ชัด แจงตัวเลขลงทุนสายสีส้มตะวันตก ถกอีกรอบ 10 ต.ค.นี้

08 ตุลาคม 2562

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะถกรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกหนุนแยกสัญญางานโยธากับระบบเดินรถ คาดเปิดประมูลงานก่อสร้าง 9 หมื่นล้านบาทได้ภายในปี 63 ด้าน ลั่นปัดเอื้อผลประโยชน์ชิโนไทย ฮุบรถไฟฟ้าสายสีส้ม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะถกรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกหนุนแยกสัญญางานโยธากับระบบเดินรถ คาดเปิดประมูลงานก่อสร้าง 9 หมื่นล้านบาทได้ภายในปี 63 ด้าน ลั่นปัดเอื้อผลประโยชน์ชิโนไทย ฮุบรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทว่า ตามที่วันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาประชุมร่วมกันถึงโครงการดังกล่าว เพื่อสรุปหารูปแบบการดำเนินการว่า รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเองหรือไม่ หรือจะดำเนินการตามรูปแบบเดิม กล่าวคือ เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)100% โดยในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในแนวทางใด เนื่องจากตัวเลขวงเงินการลงทุนระหว่าง รฟม. กับ ขร. ที่เสนอมานั้น ยังไม่ตรงกัน โดยตัวเลขข้อมูลของ รฟม. ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ขณะที่ ขร. ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5-1.6% ดังนั้น จึงได้ให้โจทย์ว่าจะต้องพิจารณาอัพเดทให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) เป็นประธานพิจารณาดังกล่าว ในช่วงเช้าวันที่ 10 ต.ค. 2562 ก่อนที่จะรายงานนายอนุทินในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาในวันที่ 11 ต.ค. นี้ โดยยืนยันว่าหากรัฐบาลดำเนินการงานโยธาเองนั้น จะไม่ล่าช้าและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากได้มีการออกแบบไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่ได้แบ่งออกเป็นหลายสัญญา และแล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด ทั้งยังมีความเสี่ยงน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานโยธา วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ได้ภายในปี 2563 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีในปี 2569

“ผมได้รับรายงานมาว่าเบื้องต้นโครงการนี้ พิจารณาแยกการก่อสร้าง กับเดินรถ แต่หลังจากนั้นก็มาพิจารณารวมกัน เพราะว่าในขณะนั้นมีข้อจำกัดเรื่องกรอบวงเงินไม่มี เพดานหนี้เงินกู้ไม่พอ โดยตอนนี้ปี 2563 กรอบวงเงินเราเหลือ 11.5% ของงบประมาณ ซึ่งไม่มีปัญหาแล้ว แต่ต้องไปดูเลขให้ถูกต้อง ว่าควรเป็นเลขต้นทุนใดระหว่าง รฟม. กับ ขร. และต้องเป็นปัจจุบัน อย่าไปใช้ตัวเลขที่ไม่อัพเดท ซึ่งต้องบอกว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่ได้อนุมัติให้ดำเนินการ”นายศักดิ์สยาม กล่าว

อย่างไรก็ามจากกรณีกระแสข่าวที่ว่าเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไม่นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การพิจารณาโครงการนั้น ได้เรียงลำดับความสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลักที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) คือ ลำดับที่ 1 ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด และรับภาระน้อยที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราค่าโดยสาร ลำดับที่ 2 รัฐจะต้องมีการลงทุนน้อย และลำดับที่ 3 เอกชนที่มาลงทุนจากรัฐจะต้องได้รับผลตอบแทน และถ้าหากดำเนินการในรูปแบบ PPP 100% นั้น จะมีต้นทุนแพงกว่ารัฐบาลดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง