posttoday

กินเจปี’62 คาดคนกรุงเทพฯ ใช้จ่าย 4,760 ล้านบาท

25 กันยายน 2562

จากภาวะเศรษฐกิจส่งผลต่อการควบคุมการใช้จ่าย ขณะที่ในปีนี้พบคนรุ่นใหม่หันกินเจมากขึ้นแต่ไม่เคร่งกินครบตลอด 9 วัน ช่วยดันตลาดเติบโต 2-4%

จากภาวะเศรษฐกิจส่งผลต่อการควบคุมการใช้จ่าย ขณะที่ในปีนี้พบคนรุ่นใหม่หันกินเจมากขึ้นแต่ไม่เคร่งกินครบตลอด 9 วัน ช่วยดันตลาดเติบโต 2-4%

เทศกาลกินเจ ปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 บรรยากาศของเทศกาลปีนี้คาดว่าจะยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทั้งกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดเทศกาลต่อจากบรรพบุรุษ รวมถึงคนทั่วไป ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมเทศกาลโดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ และพบประเด็นที่น่าสนใจซึ่งสรุปได้ ดังนี้

คนรุ่นใหม่หันกินเจมากขึ้น ดันตลาดเติบโต 2-4%

ในปี 2562 สัดส่วนคนกินเจเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ทานเจไม่ครบทั้ง 9 วันตลอดเทศกาล แต่ผลจากจำนวนผู้ทานเจที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดปีนี้เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบปีก่อน เทศกาลกินเจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ที่สนใจบริโภคเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-39 ปี

ซึ่งในปี 2562 นี้คาดว่าคนกรุงเทพฯ จะให้ความสนใจทานอาหารเจเช่นเดียวกับปีก่อนๆ โดยมีสัดส่วนถึง 66.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เทียบกับ 57.1% ของปีก่อน (ซึ่งคนทานเจที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เลือกกินบางมื้อบางวัน)

ทั้งนี้หากเทียบพฤติกรรมการทานเจของผู้บริโภคเจดั้งเดิมกับคนรุ่นใหม่ ถือว่ามีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่ทานอาหารเจตามบรรพบุรุษโดยเคร่งครัด (กลุ่มนี้จะทานเจตลอดทั้ง 9 วันหรือบางคนอาจทานเจก่อนเทศกาล 1 วันที่ถือเป็นการล้างท้อง รวมถึงการทานเจตามวาระสำคัญเช่น วันเกิดหรือวันพระ) ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอาหารเจในการผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการในจำนวนวันที่เพิ่มขึ้น

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ การบริโภคอาหารเจก็ด้วยเหตุผลจากการอยากทดลองทาน รวมถึงการหาซื้ออาหารเจทานได้สะดวก ทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้เคร่งครัดกับระยะเวลาการทานเจมากนัก ส่วนใหญ่ทานตามความสะดวกของตนเอง และทำให้น้ำหนักภาพรวมของการทานอาหารเจในช่วงเทศกาลโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่

ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า พฤติกรรมการทานอาหารเจในปี 2562 ส่วนใหญ่จะรับประทานไม่ครบทั้ง 9 วันตลอดเทศกาล ในสัดส่วน 63.3% (แยกเป็นทานเจบางมื้อสัดส่วน 42.2% และทานเจทุกมื้อครบ 9 วัน 24.5%)

ขณะเดียวกัน จำนวนมื้อที่ทานส่วนใหญ่ก็ไม่ครบทั้ง 3 มื้อ ขึ้นอยู่กับโอกาสและความสะดวก โดยส่วนใหญ่จะทานเจ 1 มื้อต่อวันสัดส่วน 45.5% รองลงมาคือ 2 มื้อสัดส่วน 28.8% มีเพียง 17.1% ที่จะทานอาหารเจครบทั้ง 3 มื้อใน 1 วัน รวมถึงกลุ่มที่วางแผนทานโดยคำนึงถึงความสะดวกอีก 9.6% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการร้านอาหารเจ อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละวัน

ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนทางด้านวัตถุดิบ รวมถึงปริมาณอาหารที่ทำในแต่ละวันมากขึ้น

เศรษฐกิจชะลอ คนคุมค่าใช้จ่ายกินเจ

จากผลการสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมในเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 29 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 แม้ว่า จำนวนวันและมื้อเฉลี่ยของการทานเจจะไม่สูงเทียบกับปีก่อน แต่จำนวนคนทานเจที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจทดลองทานอาหารเจ

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ทานเจควบคุมค่าใช้จ่ายต่อมื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ตลอดช่วงเทศกาลกินเจในปี 2562 นี้ คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเจประมาณ 4,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับปี 2561

ร้านอาหารเจแข่งขันสูง หันเน้นสุขภาพ ราคาเหมาะสม

เนื่องจากคนรุ่นใหม่ เข้ามามีบทบาทเป็นลูกค้าสำคัญในตลาดอาหารเจมากขึ้น และกลุ่มนี้มีการทำอาหารเจทานเองไม่สูงมากนัก แต่พึ่งพาร้านอาหารที่ประกอบอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก

จึงส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ สนใจเข้าสู่ตลาดเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งร้านอาหารทั่วไป ร้านค้าแผงลอย ร้านริมทาง ตลาดสด รวมถึงร้านสะดวกซื้อ/ซูเปอร์มาร์เก็ต

ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนทานเจ ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนี้มีสูง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะกลยุทธ์สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลักๆ คือความหลากหลายของสินค้า การเน้นประโยชน์ด้านสุขภาพ รวมถึงระดับราคาที่สมเหตุสมผล

โดยสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ความหลากหลายของเมนูอาหารเจ มีผลต่อการเข้าร่วมทานอาหารเจที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยมีสัดส่วนถึง 68.7 % รองลงมาคือราคาอาหารเจ 51.8% และบรรยากาศความคึกคักของเทศกาล 11.8% อื่นๆ อาทิ ความสะดวกและหาทานง่าย 12.9%

ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจลงไปในด้านวัตถุดิบ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 85.7% สนใจอยากให้ร้านอาหารนำวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพมาปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มเจ โดยวัตถุดิบที่ให้ความสนใจสูงคือผัก/ผลไม้ออร์แกนิก สัดส่วน 88.9% ข้าวที่มีโภชนาการสูงเช่นข้าวหอมนิล/ไรซ์เบอรี่ 58.7% โปรตีนจากพืชเกษตร 49.2% และสมุนไพร 43.3%

ปรับราคาอาหารเจมีผลกระทบต่อผู้บริโภคเกือบ50%
นอกจากนี้ เมื่อสำรวจเจาะลงไปในประเด็นด้านราคาอาหารเจ พบว่า หากมีการปรับขึ้นมากจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอาหารเจเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ 45.9% ส่วนที่ไม่มีผลกระทบมี 54.1%

โดยพฤติกรรมของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ การปรับไปหาเมนูอาหาร/ร้านอาหารที่จำหน่ายไม่แพง 77.5% รวมถึงการคุมค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ 36.0% และการลดวันหรือมื้อที่กินเจลง 32.6%

ดังนั้น ปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ประสบความสำเร็จในการจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจทานอาหารเจ คือ การพัฒนาความหลากหลายของอาหารเจ ซึ่งควรมีรสชาติใกล้เคียงกับอาหารที่จำหน่ายทั่วไปทั้งอาหารเจแบบไทย ญี่ปุ่นหรือยุโรป รวมถึงการเพิ่มประโยชน์หรือคุณค่าทางด้านโภชนาการ รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการคัดเลือกวัตถุดิบ/หาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ รวมถึงการดัดแปลงวัตถุดิบในประเภทที่ราคาไม่ได้ปรับสูงขึ้นทดแทนจะเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน

และเนื่องจากปัจจุบันตลาดอาหารในเทศกาลกินเจ ไม่ใช่มีเฉพาะกลุ่มคนจีนที่มีการสืบทอดตามบรรพบุรุษ แต่เพิ่มเติมด้วยกลุ่มคนทั่วไป ที่เข้ามากินเจโดยไม่เคร่งครัดทางด้านข้อห้ามต่างๆ มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีประชากรจำนวนมากทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุ 20-39 ปีมีประมาณ 19.1 ล้านคน) รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ (ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 10.7 ล้านคน) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีอิทธิพลและมีบทบาทต่อกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ สูง

เทรนด์อาหารเจ เน้นหลากหลายคำนึงสุขภาพ

ดังนั้น ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจ รวมถึงอาหารทั่วไป อาจจำเป็นต้องให้ความสำคัญและศึกษาเทรนด์การบริโภคอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ตอบโจทย์ธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งคนรุ่นใหม่และผุ้สูงอายุ

โดยอาจต้องคำนึงถึงรูปแบบอาหารในหลายๆ ด้าน อาทิ การลดความหวาน (น้ำตาลน้อย) มัน หรือเค็ม (อาหารที่มัน เลี่ยน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่นิยมทานเจ มีสัดส่วนถึง 55.6%) แต่เพิ่มทางด้านเส้นใยอาหารที่ช่วยด้านการขับถ่าย การคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารในแต่ละมื้อ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว สามารถนำมาใช้กับการจำหน่ายอาหารเจ รวมถึงการผลิตอาหารทั่วไปด้วย

กล่าวโดยสรุป เทศกาลกินเจในปี 2562 นี้ คาดว่าจะยังคงมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเช่นเดียวกับปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาจต้องติดตามก็คือ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบจากปัจจัยด้านภัยธรรมชาติในปีนี้ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คนทานเจให้ความสำคัญ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาพรวมความคึกคักของตลาดอาหารเจในปีนี้ และจากการที่ตลาดในเทศกาลกินเจ

จากเดิมที่เคยถูกขับเคลื่อนโดยคนไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดเทศกาลตามบรรพบุรุษ มีกลุ่มลูกค้าคนทั่วไปที่เข้ามาทานอาหารเจเพิ่มขึ้น เพื่อเหตุผลด้านสุขภาพ หรือต้องการทำบุญเสริมสิริมงคล ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ค่อยเคร่งครัดทางด้านข้อห้ามต่างๆ มากนัก แต่ต้องการอาหารและเครื่องดื่มเจที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ จึงเป็นโจทย์สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม