posttoday

‘ศักดิ์สยาม’ ชง ครม.เคาะลงทุนโครงการใหม่คมนาคม 13 โครงการ รวม 5.5 แสนล้านบาท

20 กันยายน 2562

หนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กส์ขนส่ง 1.94 ล้านล้านบาท ด้าน ครม.เศรษฐกิจบี้ "คมนาคม" เร่งรัดเบิกเงินกองทุน TFF ก่อสร้างทางด่วน พร้อมเร่งรัดลงนามรถไฟไฮสปีดอีอีซี

หนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กส์ขนส่ง 1.94 ล้านล้านบาท ด้าน ครม.เศรษฐกิจบี้ "คมนาคม" เร่งรัดเบิกเงินกองทุน TFF ก่อสร้างทางด่วน พร้อมเร่งรัดลงนามรถไฟไฮสปีดอีอีซี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ (20 ก.ย. 2562) ว่า กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ก่อนปี 2561-2566 จำนวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1.94 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น โครงการที่จะเสนอ ครม.ในรัฐบาลชุดนี้ รวม 13 โครงการ รวม 5.51 แสนล้านบาท อาทิ รถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 7 เส้นทาง วงเงิน 2.62 แสนล้านบาท โครงการทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วง บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท

โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง บางซื่อ-หัวลำโพงและบางซื่อ-หัวหมาก วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท และโครงการศูนย์ฝึกอบรมการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2.7 พันล้านบาท โครงการผ่าน PPP แล้วเตรียมเสนอ ครม. รวม 2 โครงการ มูลค่า 2 แสนล้านบาท อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท

โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 โครงการ มูลค่า 4.12 แสนล้านบาท อาทิ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 2 เส้นทาง วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท โครงการรันเวย์ที่ 3 สุวรรณภูมิ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท และโครงการในกลุ่มอีอีซี วงเงิน 5.04 แสนล้านบาท โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลทฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท

โครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ มูลค่า 7.82 แสนล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 1.67 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 8.2 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท

รถไฟทางคู่ เฟส 1 รวม 7 เส้นทาง วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โครงการรถไฟไฮสปีดกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง วงเงิน 1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีส้มและสายสีเหลือง วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจได้เร่งรัดการลงนามในสัญญาโครงการ ในส่วนที่จะเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) โดยเฉพาะโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. งานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 2.91 หมื่นล้านบาทของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน และให้เกิดเป็นรูปธรรม

โดยในขณะนี้ ได้มีการดำเนินการประกวดราคาเรียบร้อยแล้วทั้ง 4 สัญญา แม้ว่าจะมี 2 สัญญาที่ยังติดปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติ จึงได้สั่งการให้มีการเร่งรัดตรวจสอบให้เรียบร้อย หากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ชนะการประกวดราคาไม่ผ่านคุณสมบัติ จะเรียกผู้ที่เสนอราคาในลำดับที่ 2 มาพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้สั่งเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท เนื่องจากมีเงื่อนไขของกรอบเวลากำหนดไว้ จากเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องได้ข้อยุติกับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จะเชิญนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ มาประชุมร่วมกัน เพื่อหารือข้อสรุปให้มีความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ทีโออาร์กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอีอีซีต่อไป

"ต้องไปดูเรื่องทีโออาร์การส่งมอบพื้นที่ ว่าเขาเขียนยังไง ว่าตรงนี้ให้ใคร เป็นหน้าที่ของใคร แต่ละเรื่องที่เจรจายังมายุติในทีโออาร์เขียนว่ายังไง จะได้ให้เขามาอธิบายให้ฟัง เรื่องนี้เราไม่สามารถไปแก้ทีโออาร์ได้ จะไปทำนอกเหนือกรอบทีโออาร์ไม่ได้ เพราะเงื่อนเวลาเร่งจนเป็นเงื่อนไข ซึ่งจะสิ้นสุดภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งราคาที่ประมูลมายืนถึง พ.ย.นี้ เราปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าไม่จบต้องถามคณะกรรมการคัดเลือกว่า แนวทางการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศคืออะไร" นายศักดิ์สยาม กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ยังได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจช่วยปลดล็อคโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการแก้ไข และเดินหน้าโครงการต่อ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อเร่งเบิกค่าเวนคืน 12,000 ล้านบาทให้ชาวบ้าน