posttoday

'พาณิชย์'คิดบวก แม้บาทแข็งฉุดส่งออกติดลบ แต่ตลาดสหรัฐ-ญี่ปุ่นยังไปได้ดี

12 กันยายน 2562

ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าสวนทางคู่แข่งทางการค้า กระทบส่งออกไทย แต่สินค้าเกษตรบางตัวในตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดี จับตาปัจจัยเสี่ยงบาทแข็งต่อเนื่องช่วงปลายปี แนะเอกชนประกันความเสี่ยง

ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าสวนทางคู่แข่งทางการค้า กระทบส่งออกไทย แต่สินค้าเกษตรบางตัวในตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดี จับตาปัจจัยเสี่ยงบาทแข็งต่อเนื่องช่วงปลายปี แนะเอกชนประกันความเสี่ยง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและของไทย พบว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงวันที่ 30 ส.ค. 2562 อยู่ที่ 31.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากค่าเงินอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างเช่น เกาหลีใต้ (อ่อนค่า 6.5%) สหภาพยุโรป (อ่อนค่า 6.3%) อังกฤษ (อ่อนค่า 6.2%) จีน (อ่อนค่า 5.3%) อินเดีย (อ่อนค่า 5.1%) ไต้หวัน (อ่อนค่า 4.0%) มาเลเซีย (อ่อนค่า 4.0%) และเวียดนาม (อ่อนค่า 2.1%) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังทำได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า โดย 7 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกลดลง 1.9% ส่วนเกาหลีใต้ลดลง 8.9% อังกฤษลดลง 3.5 %ไต้หวันลดลง 2.9% และมาเลเซียลดลง 4.8% ดังนั้นการแข็งค่าของค่าเงินบาทแม้ว่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังจำกัด

ทั้งนี้สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงิน โดยพบว่า แม้การส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิดจะหดตัว แต่การส่งออกไปบางตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น การส่งออกข้าว 7 เดือนแรกลดลง 18.5% แต่ส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 13.9% (มีสัดส่วน 13.8 %ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 7 เดือนแรกหดตัว 6.9% แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 3.2% (มีสัดส่วน 10.6%) การส่งออกข้าวโพด 7 เดือนแรกหดตัว 20.7 %แต่การส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 29.2% (มีสัดส่วน 23.2% )

นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง 7 เดือนแรกขยายตัว 2.3% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัว 16.5% และ 10.4% ตามลำดับ เป็นต้น รวมถึงการส่งออกผลไม้สด/แช่แข็งที่มีความนิยมสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงถึง 44.9 % สะท้อนการส่งออกสินค้าเกษตรยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ความต้องการสินค้า และคุณภาพสินค้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าไลฟ์สไตล์หลายชนิดที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง/ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 15.3% 13.3% 12.6 % 3.3% และ1.3 % ตามลำดับ

สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น โดยเคลื่อนไหวในช่วง 30.0-31.0 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยหลักที่อาจจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบด้วย 1. การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญของโลก อย่าง สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป 2. แนวทางการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit และ 3. ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการความผันผวนและค่าเงินที่อาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2562