posttoday

ตลาดการบินปี62สุดว้าเหว่ โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากพิษสงครามการค้าฉุดเที่ยวไทย

30 สิงหาคม 2562

บวท. ตั้งโต๊ะแถลงแนวโน้มตลาดการบินปีนี้วูบหนัก หวั่นท่องเที่ยวไทยปีหน้าทรุดต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจไทยชะลอตัว พร้อมแจง 'เซ็นทรัลวิลเลจ'ไม่กระทบการบินสุวรรณภูมิ ทดสอบบินแล้วไร้อุปสรรค

บวท. ตั้งโต๊ะแถลงแนวโน้มตลาดการบินปีนี้วูบหนัก หวั่นท่องเที่ยวไทยปีหน้าทรุดต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจไทยชะลอตัว พร้อมแจง 'เซ็นทรัลวิลเลจ'ไม่กระทบการบินสุวรรณภูมิ ทดสอบบินแล้วไร้อุปสรรค

ตลาดการบินปี62สุดว้าเหว่ โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากพิษสงครามการค้าฉุดเที่ยวไทย นายสมนึก รงค์ทอง เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)

นายสมนึก รงค์ทอง เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มตลาดการบินในปีนี้มีการเติบโตลดลงอย่างน่าตกใจ ถือว่าต่ำสุดในรอบนับสิบปีที่ผ่านมา โดยบวท.คาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดการบินจะขยายตัวเพียง 1% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 6%

โดยมีเที่ยวบินลดลงราว 60,000 เที่ยวบิน อยู่ที่ 1.04 ล้านเที่ยวบินตลอดปี จากเดิม 1.1 ล้านเที่ยวบินในปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้ผลกระทบจากสงครามการค้า(สหรัฐ-จีน)? รวมถึงสภาวสงครามในปากีสถาน และการแยกตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)? สอดคล้องกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 0.7% ลดลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวนักท่องเที่ยวในปีก่อนที่ 6-7%

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสภาวะทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการขยายตัวของเที่ยวบินโดยตรง ส่งผลให้การเติบโตในปี 2563 ตลาดการบินมีโอกาสเงียบเหงาต่อเนื่องหากการเติบโตเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวแค่ 2-3 %

นายสมนึก กล่าวว่าสำหรับตัวเลขปริมาณการบินในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ส.ค. 2562) ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 964,322เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,876 เที่ยวบิน/วัน สำหรับสนามบินที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือสุวรรณภูมิอยู่ที่ 348,615เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 36% รองลงมาเป็นสนามบินดอนเมือง 265,616 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 27.5% และสนามบินภูเก็ต 108,095 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 11.2%

อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางบินทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางบินที่มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 239,771 เที่ยวบินต่อปี เฉลี่ยวันละ 632 เที่ยวบินต่อวัน เฉลี่ยภาพรวมเติบโตอยู่ที่ 7.4%

ทั้งนี้คาดว่า รายได้ในปีนี้จะมากกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้จะมีการลงทุน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1,000 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2566-2567 และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินเบตง มูลค่า 200 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2563

นายสมนึกกล่าวถึงข้อพิพาทเรื่องเซ็นทรัลวิลเลจว่า สำหรับโครงการเซ็นทรัล วิลเลจนั้นที่ทอท.มีความกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบต่อการบินนั้นมีส่วนทั้งเรื่องแสงไฟและคลื่นความถี่ของโครงการจะกระทบกับการบินแน่นอน

ทว่าในแต่ละปีมีระยะเวลากระทบเพียง 1 เดือน หรืออาจไม่กระทบเลย เนื่องจากโครงการเซ็นทรัลวิลเลจอยู่ทางฝั่งด้านใต้ของสนามบิน (South Runway) ซึ่งส่วนใหญ่การนำเครื่องบินเทคออฟจะอยู่ที่ฝั่งด้านเหนือ (North Runway) ถึง 11 เดือน โดยจะมีเพียงปีละ 1 เดือนที่ต้องเปลี่ยนมาเทคออฟฝั่งรันเวย์ใต้ ตามทิศทางของกระแสลมช่วงสั้นๆในแต่ละปี

หรือบางปีอาจไม่มีลมเปลี่ยนทิศเลยก็เป็นได้ ประกอบกับจากการบินทดสอบของ บวท. เมื่อช่วง เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นการก่อสร้างของโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็ไม่พบปัญหาใดๆ ในการนำเครื่องบินขึ้นและลง

ส่วนการขยายรันเวย์ที่ 3และรันเวย์ที่4 ของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะไม่กระทบกับเซ็นทรัลวิลเลจเช่นกันเพราะรันเวย์ใหม่จะอยู่อีกฝั่งของสนามบิน มีเรื่องเดียวที่น่าเป็นห่วงคือการใช้แสงไฟในงานอีเวนท์ อาทิ แสงสปอร์ตไลท์ แสงยิงขึ้นฟ้าแบบซิตี้ไลท์ รวมถึงแสงเลเซอร์ ต้องควบคุมไม่ให้กระทบกับนักบิน