posttoday

'จุรินทร์' เร่งเครื่องพยุงเป้าส่งออก3% บูรณาการพาณิชย์-เกษตร ลุยเจรจาการค้า

28 สิงหาคม 2562

รมว.พาณิชย์ ตั้งวงถกมอบนโยบายทูตพาณิชย์-เกษตร และพาณิชย์จังหวัด ฟื้นภาคส่งออกไทย ปรับตัวเป็นทัพหน้าช่วยเอกชน สวมหมวกพนักงานขายสินค้าส่งออกกิตติมศักดิ์ ยึดเป้าส่งออกปีนี้ 3%

รมว.พาณิชย์ ตั้งวงถกมอบนโยบายทูตพาณิชย์-เกษตร และพาณิชย์จังหวัด ฟื้นภาคส่งออกไทย ปรับตัวเป็นทัพหน้าช่วยเอกชน สวมหมวกพนักงานขายสินค้าส่งออกกิตติมศักดิ์ ยึดเป้าส่งออกปีนี้ 3%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน ประชุมมอบนโยบายเพื่อเชื่อมโยงการปฏิบัติงานของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เพื่อเป้าหมายและสถานการณ์การส่งออกของไทย ปี 2562 ว่า ในปีนี้ยังคงเป้าส่งออกไว้ ที่3 % และ ปี 2563 ขยายตัว 3.5% โดยจะต้องเร่งงหาโอกาสจากการส่งออกและปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา – จีน

ทั้งนี้ขอให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกทำหน้าที่ส่งเสริมการขาย และสนับสนุนเอกชนให้สามารถเพิ่มศักยภาพการส่งออกภายใต้นโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนยบายการประกันรายได้เกษตรกร ผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด รวมทั้งต้องการให้ส่งเสริมการส่งออกมากขึ้นเพื่อให้ราคาตลาดสูงขึ้น ซึ่งทางทูตเกษตรต้องช่วยดูเรื่องการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร และช่วยเจรจาเพื่อขอขยายเวลาหรือเงื่อนไขต่างๆที่เป็นอุปสรรค พร้อมเร่งรัดเจรจาในมาตรฐานสินค้าและแก้ไขปัญหาการตรวจสินค้า

นอกจากนี้บทบาทของการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนั้นจะต้องทำงานอย่างมืออาชีพ ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และคิดกลยุทธ์ใหม่ ตามอำนาจหน้าที่ เพราะการทำแบบเดิม จะให้ผลลัพธ์เหมือนเดิมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน ไม่ต้องเลิกของเก่าที่ดีอยู่แล้วแต่เพิ่มสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น และต้องการให้ทูตพาณิชย์ปรับตัวเป็นผู้นำทัพเสริมของเอกชนให้สามารถส่งออกเพิ่มได้ และปรับเป็นพนักงานขายกิตติมศักดิ์เพื่อให้ผ่านสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันโดยเฉพาะการขายสินค้าในนามรัฐ  G2G/G2Cมากขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทูตพาณิชย์จะต้องรู้จักสินค้า และบริการ รวมถึงคุณภาพของสินค้าไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์ และขายแข่งกับผู้ค้าในตลาดโลกได้ ทุกคนต้องทำงานเชิงรุก อย่างมืออาชีพ โดยให้ทำแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงระยะ 3 – 6 เดือน ทั้งนี้การไปโรดโชว์แต่ละครั้งจะต้องเกิดผล เห็นผล เพื่อให้ตัวเลขส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนบทบาทของทูตเกษตร นั้น ต้องการให้ดูแลเรื่องมาตรฐาน เงื่อนไข ข้อข้อกำหนด เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ที่ต่างประเทศกำหนด  และเร่งรัดการเจรจาเพื่อปลดล็อก หรืออย่างน้อยขอยืดเวลาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ด้านบทบาทพาณิชย์จังหวัด ต้องการให้เน้นเรื่องการจดทะเบียน GI เพื่อรองรับสินค้าตามถิ่นกำเนิดในจังหวัด ท้องถิ่นนั้นๆ ให้ค้นหาสินค้าที่จะสามารถขึ้นทะเบียน GI ได้และให้ช่วยดูเรื่องการค้าชายแดนเพิ่มด้วย ทั้งช่วยคลี่คลายปัญหาในฝั่งประเทศไทยจะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกได้ นอกจากนั้นด้านนโยบายโชห่วยให้พาณิชย์จังหวัดช่วยเสริมจากร้านธงฟ้า เร่งรัด เป็นระบบ มีเป้าหมายชัดเจน ส่งเสริมความรู้ใช้ Software เข้าไปช่วยเรื่องการจัดการ Stock ให้กับร้านค้าโชว์ห่วยในท้องถิ่นด้วย

รายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าด้วยว่าได้มีการประเมินสถานการณ์ส่งออกของภาคเอกชนโดยแยกเป็นส่งออกในกลุ่มสินค้าสำคัญ สัดส่วน 75% ซึ่งมีสินค้าเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยาง อาหาร และน้ำตาล ส่วนสินค้าด้านอุตสาหกรรม มีรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก

ทั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าสำคัญคือสินค้าเกษตรโดยต้องการให้ ให้จัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อฟื้นฟูตลาด เจรจากับประเทศคู่ค้าแบบ G2G พร้อมสร้างความสัมพันธ์การค้าข้าวกับคู่ค้า เข้าร่วมการแสดงสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น และให้เกษตรกรไทยพัฒนาการผลิตข้าวนุ่มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกมากขึ้น

ทางด้านยางพารานั้น สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เปลี่ยนจากผลิตยางพาราเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราแทน เพื่อเพิ่มมูลค่าในการไปแปรรูป โดยการหาตลาดและทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ด้านมันสำปะหลังให้ความรู้ และเชิญชวนให้เกษตรกรพัฒนาการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ และลดต้นทุนของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันกับพืชชนิดอื่นได้

นอกจากนั้นเสนอให้อนุญาตให้ส่งออกได้โดยไม่จำกัดปริมาณ อัตราส่วนสต็อคในการครอบครองของผู้ส่งออก ส่วนด้านอาหารก็ขอให้มีการเร่งรัดการเจรจา FTA ระหว่างไทย – ยุโรป กับไทย-อังกฤษ เพื่อเปิดตลาดยิ่งขึ้นเป็นต้น รวมถึงการรักษาตลาดเดิมเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน และการเปิดตลาดใหม่ที่เอเชียใต้ ละตินอเมริกา รัสเซีย และตะวันออกกลาง ตลอดจนการงฟื้นฟูส่วนแบ่งตลาดที่เคยขยายตัวได้ดี เช่น อิรัก สหรัฐอาหรับอิมิเรต และบาเรนห์ เป็นต้น