posttoday

รัฐบาลเดินหน้าควบรวมที"ทีโอที-กสท."ภายใน6เดือน

23 สิงหาคม 2562

รัฐบาลไม่หวั่นสหภาพพนักงานต้าน เร่งควบรวม "ทีโอที-กสท." เป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ด้านการสื่อสาร

รัฐบาลไม่หวั่นสหภาพพนักงานต้าน เร่งควบรวม "ทีโอที-กสท." เป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ด้านการสื่อสาร

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือน ก.ย.นี้ ให้มีการควบรวมบริษัท ทีโอที กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการทำงาน ซึ่งการดำเนินงานของบริษัทใหม่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จะมีสินทรัพย์รวมกันกว่าล้านล้านบาท ซึ่งจะมีศักยภาพที่จะเป็นบริษัทให้บริการด้านเครือข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยได้ ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบแผนการควบรวม ทางกระทรวงดีอีต้องดำเนินการควบรวมให้เสร็จภายใน 6 เดือน" นายประภาศ กล่าว

นายประภาศ กล่าวยอมรับว่า การควบควบรวมดังกล่าวจะได้รับการต่อต้านจากสหภาพพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติต้องทำความเข้าใจให้พนักงานเข้าใจ โดยตอนนี้ทีโอทีมีพนักงาน 20,000 คน ส่วน กสท. มีพนักงาน 6,000 คน ซึ่งคาดว่าการควบรวมจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน

อย่างไรก็ตาม หลังการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ก็ต้องมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานขององค์กรให้ชัดเจน ว่า มีจุดเด่นด้านใดก็ต้องดำเนินการเป็นธุรกิจหลัก ส่วนเรื่องที่ดำเนินการได้ไม่ดีก็ต้องพิจารณายกเลิกดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทใหม่มีเป้าหมายชัดเจน และเกิดรายได้และกำไรกับองค์กรมากที่สุด

นายประภาศ กล่าวว่า การควบรวมทีโอที กับ กสท. เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟู 5 รัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเห็นชอบ สำหรับอีก 3 รัฐวิสาหกิจที่ยังอยู่ในแผนฟื้น คือ บริษัทการบินไทย ที่มีปัญหาการดำเนินงานขาดทุน มีการแข่งขันสูง ต้องหารายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลักเสริม เช่น การตั้งศูนย์ซ่อมบำรุ่งที่อู่ตะเภา การลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่อยู่ระหว่างการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อพัฒนาที่ดินของ ร.ฟ.ท. ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงอยู่ระหว่างดำเนินการให้ ร.ฟ.ท. เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดง

สุดท้ายการฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีการปรับรถใหม่มีการรับรถเมล์เอ็นจีวีไปแล้ว 489 คัน ส่วนที่เหลือ 3,183 คัน อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงการเก็บค่าโดยสารโดยใช้เครื่อง EDC และปรับปรุงเส้นทางการเดินรถ 96 เส้นทาง จาก 137 เส้นทาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น