posttoday

ปรับใหญ่แลนด์สเคป-จัดโซนนิง 'บางแสน'รับเศรษฐกิจ อีอีซี

21 สิงหาคม 2562

นายกเทศบาลเมืองแสนสุข ดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาให้บริการ 'สมาร์ท ซิตี' เตรียมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต หวังรายได้ใหม่เข้าเมืองเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 20% รับเศรษฐกิจในพื้นที่ อีอีซี

นายกเทศบาลเมืองแสนสุข ดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาให้บริการ 'สมาร์ท ซิตี' เตรียมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต หวังรายได้ใหม่เข้าเมืองเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 20% รับเศรษฐกิจในพื้นที่ อีอีซี

ปรับใหญ่แลนด์สเคป-จัดโซนนิง 'บางแสน'รับเศรษฐกิจ อีอีซี ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่าขณะนี้ได้วางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองแสนสุข หรือ บางแสน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมืองในอนาคตตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ประกอบด้วย 3 จังหวัดนวัตกรรมเศรษฐกิจ คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง

ในเบื้องต้น เมืองบางแสนร่วมกับ เอสซีจี ออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ (แลนด์สเคป) ชายหาดวอนนภา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบางแสนล่าง มีระยะทางประมาณ 700 เมตร พร้อมร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำการศึกษาและป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งหาดวอนนภา โดยเตรียมถมทรายยื่นออกนอกขายฝั่งระยะทาง 30 เมตร คาดใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ทำหนังสือเสนอไปยังรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมที่ดูแลในหน่วยงานดังกล่าว เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ใช้งบประมาณระหว่างปีใด เพื่อดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนปรับปรุงพื้นที่ทั้ง 4 โซนใหม่ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่เปิด 24 ชั่วโมง พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สำหรับการปิคนิค หรือ ร่วมทำกิจกรรมครอบครัว เป็นต้น พร้อมดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ในโครงการหลัก คือ บริเวณสะพานปลา หาดวอนนภา เพื่อพัฒนาเป็นตลาดสดอาหารทะเล ภายใต้แนวคิด นวัตวิถีหาดวอนนภา โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หน้ามหาวิทยาลัยบูรพา เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้มีความคล่องตัว

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณลานม้าน้ำ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์อาคารผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ที่ถนนข้าวหลาม เพื่อรองรับอนาคตเมืองบางแสนให้พัฒนาไปสู่เมืองสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) คาดเปิดให้บริการราวเดือนพฤศจิกายน ปี2563

"เมืองบางแสนมองเห็นศักยภาพที่จะเป็นเมืองแห่งสังคมผู้สูงวัยในอนาคต ซึ่งคาดว่าโครงการฯจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท สร้างศูนย์ผู้สูงอายุในประเทศไทยในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข โดยร่วมมือกับ บริษัทโอกุระ ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นผู้ถ่ายทอดโนว์ฮาวงานบริการการดูแลพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อต่อยอดพัฒนาสู่การเป็นเมืองผู้สูงอายุในอนาคต ในรูปแบบ ลีฟวิง สมาร์ท-ซิตี สมาร์ท" นายณรงค์ชัย กล่าว

รวมถึง โครงการปรับปรุงภูิทัศน์บริเวณศูนย์เด็กเล็ก โครงการปรับปรุงรอบอาคารเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดใหญ่(เมกะ โปรเจค)ของเทศบาลฯ ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบซึ่งมีอาคารเก่าอายุ 31 ปี จำนวน 121 อาคาร โดยเทศบาลฯ วางงบประมาณดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรวม 700-800 ล้านบาท

โดยโครงการฯทั้งหมด จะใช้งบประมาณของเทศบาลฯที่ได้รับต่อปีประมาณ 300 ล้านบาท และเตรียมหางบประมาณจากภายนอกมาสนับสนุนเพิ่มโดยเฉพาะในโครงการแลนด์สเคปรอบเทศบาลฯคาดจะใช้งบฯไม่ต่ำกว่า 500-600 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายระยะเวลาดำเนินการโครงการฯทั้งหมดภายใน2 ปีนับจากนี้

นายณรงค์ชัย กล่าวว่าสำหรับสีผังเมืองเทศบาลเมืองแสนสุขยังอยู่ระหว่างเตรียมการประกาศออกมาใหม่ จากก่อนหน้าเทศบาลฯได้กำหนดผังเมืองไว้เป็นสีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

สำหรับบทบาทของเทศบาลเมืองบางแสน ในพื้นที่อีอีซี นั้นได้วางไว้เป็นย่านภูมิศาสตร์สารสนเทศไอทีและการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ได้มีการตีกรอบเส้นทางพื้นที่ถนนข้าวหลามบริเวณทางซ้ายและขวาแล้ว เพื่อให้สามารถใช้สิทธิพิเศษภาษีการลงทุนทางด้านไอทีได้ด้วย ซึ่งขณะนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้ามาศึกษาและสำรวจพื้นที่เมืองบางแสนเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาควบคู่การท่องเที่ยวในการส่งเสริม และกระตุ้นกลุ่มสตาร์ทอัพ เข้ามายังพื้นที่เพื่อใช้บริการ

ปัจจุบันเทศบาลเมืองแสนสุข มีประชากรที่ลงทะเบียนกว่า 47,000 ราย ยังไม่รวมประชากรแฝงที่มีอยู่ประมาณกว่า30,000 ราย ปัจจุบันเมืองบางแสนมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2 ล้านคนต่อปี มีค่าใช้จ่ายต่อหัวรวมค่าที่พักเฉลี่ย 2,000 บาท หากโครงการฯทั้่งหมดดำเนินการแล้วเสร็จคาดสามารถสร้างรายได้เข้าเมืองบางแสนได้เพิ่มขึ้น 20%