posttoday

“สุริยะ”เดินหน้ามาบตาพุดเฟส3 เร่งศึกษาถมทะเล3พันไร่แหลมฉบัง รองรับการลงทุน

19 สิงหาคม 2562

"สุริยะ"มอบนโยบาย กนอ.ตีกรอบ 100 วัน ผลงานต้องชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ทั้งมาบตาพุด เฟส3 - นิคมฯสมาร์ทปาร์ค รองรับอุตฯ 4.0

"สุริยะ"มอบนโยบาย กนอ.ตีกรอบ 100 วัน ผลงานต้องชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ทั้งมาบตาพุด เฟส3 - นิคมฯสมาร์ทปาร์ค รองรับอุตฯ 4.0

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ว่า ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงานต่างๆให้เห็นผลชัดเจนภายใน 100 วันเพื่อผลักดันเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะแรงกดดันจากสงครามการค้า โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดจะลงนามในสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการภายในกันยายน

สำหรับการศึกษาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น โครงการปิโตรเคมีส่วนขยายในพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 1,000 ไร่ รวมมูลค่า 3.3 แสนล้านบาทนั้น เตรียมว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยศึกษาแนวทางการถมทะเลบริเวณท่าเรือแหลมฉบังพื้นที่ 3,000 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุน ทั้งของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น และการลงทุนจากเอกชนรายอื่นๆโดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเดิมกลุ่มเอ็กซอนฯมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายพื้นที่ใกล้ๆเพื่อลงทุนอีก 1,000 ไร่ ดังนั้นการศึกษา แนวทางการถมทะเลก็ควรมองพื้นที่อื่นๆเพิ่มเติมไปด้วย แต่ต้องดูในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ด้วยว่า สามารถดำเนินการได้แค่ไหน ถ้าผลศึกษาออกมาว่าไม่เห็นด้วย ทุกอย่างก็ต้องหยุดไป

ด้านการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 เป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และคาดจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) จะดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลว เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 และคาดจะเสนอผลการคัดเลือกและผลการพิจารณาสัญญาต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายในเดือน กันยายน 2562 ต่อไป

ขณะที่โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ซึ่ง กนอ.กำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ขนาดพื้นที่ 1,500 ไร่ จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ )ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนต่อไปจะเสนอต่อ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนกันยายน และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้เป็นไปตามแผนงานภายในปี 2563 และเปิดให้บริการรองรับการลงทุนได้ประมาณปี 2566 ในลำดับต่อไป

นายสุริยะ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้ กนอ.ไปพิจารณาเร่งรัดการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุนของเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) เพราะถือว่าเป็นภาคการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ควรมองข้าม โดยจะทำอย่างไรเพื่อเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพ โ

ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสงขลา ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับเหมาเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในส่วนของ ระยะที่ 1 เนื้อที่ 627.43 แล้ว นับเป็นนิคมฯแห่งที่สองในการจัดตั้งขึ้นภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะสามารถเปิดบริการรองรับการลงทุนได้ภายในปี 2563 ขณะที่นิคมฯตาก ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่ 671.50 ไร่ ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณาเห็นชอบในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ออกโฉนดที่ดิน และคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับ กนอ.ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2562 ต่อไป