posttoday

กทม.เล็งล้มโต๊ะเจรจาบีทีเอส หากเบี้ยวข้อเสนอ จ่อเรียกรายอื่นมาคุย

15 สิงหาคม 2562

ด้าน BEM พร้อมเสียบรับงานเดินรถสายสีเขียว มองเป็นโอกาสโครงข่ายเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่บริหารอยู่ก่อนหน้านี้

ด้าน BEM พร้อมเสียบรับงานเดินรถสายสีเขียว มองเป็นโอกาสโครงข่ายเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่บริหารอยู่ก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรุงเทพมหาคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิเสธการต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ให้กับกลุ่มบีทีเอสและเตรียมเสนอไปยังที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากประชาชนไม่ได้ประโยชน์และอาจมีความไม่โปร่งใสนั้น

กทม.ในฐานะเจ้าของโครงการนั้นยืนยันว่าการเจรจายังไม่จบอยู่ระหว่างเจรจากับบีทีเอส ซึ่งหากทางเอกชนยังไม่ยอมรับข้อเสนอ อาทิ ค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาทและการแบ่งรายได้ให้ กทม.เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท รวมถึงรับภาระหนี้สินโครงการ 1 แสนล้านบาท นั้นการเจรจาคงเดินต่อไปลำบากและคงต้องเรียกเอกชนรายอื่นเข้ามาเจรจาเดินรถแทน

เพราะกทม.ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเหตุใดจึงเลือกต่อสัมปทานให้เอกชนรายนี้ โดยเฉพาะค่าโดยสารต้องเจรจาให้ได้ราคาต่ำที่สุดและห้ามเกิน 65 บาทตลอดสาย ขณะนี้เหลือกรอบเวลาเจรจาอีก 15 วันจะต้องได้ข้อสรุปภายในช่วงนี้

ด้านนางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่ากรณีที่โครงการเดินรถสายสีเขียวอาจเปิดประมูลเพื่อหาผู้เดินรถรายใหม่นั้น ถือเป็นอีกโอกาสในการดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าย่อมเป็นธรรมดาที่ BEM จะสนใจเข้าร่วมแข่งขันเพราะถือเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่บริหารอยู่แล้วคือสายสีน้ำเงิน

ส่วนกรณีเงื่อนไขค่าโดยสาร 65 บาทนั้นต้องขึ้นอยู่ที่ภาครัฐกำหนด เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก-ตะวันออก ที่บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน

ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าในกรณีที่ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 2 เจ้าใช้รถไฟฟ้า 2 ระบบในเส้นทางเดียวกันนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ

ทว่าการเปิดประมูลใหม่นั้น มีโอกาสที่ผู้เดินรถรายเดิม(บีทีเอส) จะชนะประมูลเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าคู่แข่งขันรายอื่น สุ่มเสี่ยงต่อการร้องเรียนจากคู่แข่งคล้ายกับกรณีการประมูลดิวตี้ฟรีภายในสนามบิน ขณะเดียวกันจะไปปิดกั้นให้ห้ามเอกชนรายเดิมเข้าร่วมประมูลก็ไม่ได้

ดังนั้นจึงอยู่ที่การกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ว่าภาครัฐจะรัดกุมข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากแค่ไหน และสุดท้ายหากมีผู้ประกอบการ 2 เจ้าผลกระทบอาจตกอยู่ที่ค่าโดยสารที่แพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งด้านซ่อมบำรุงและบริหาร หากรถไฟฟ้าเส้นทางเดียวแต่มีระบบเดินรถแยกเป็น 2 ระบบ