posttoday

"ศักดิ์สยาม"ย้ำ ไม่บังคับเปลี่ยรถตู้เป็นไมโครบัส หวั่นกระทบค่าโดยสาร

13 สิงหาคม 2562

"ศักดิ์สยาม"แจงเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แบบสมัครใจ หวั่นเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ ขยับขึ้นค่าโดยสาร กระทบประชาชน กางสถิติอุบติเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากคนมากกว่ารถ

"ศักดิ์สยาม"แจงเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แบบสมัครใจ หวั่นเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ ขยับขึ้นค่าโดยสาร กระทบประชาชน กางสถิติอุบติเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากคนมากกว่ารถ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง ประเด็นนโยบายการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสว่า นโยบายดังกล่าว เป็นการดำเนินการด้วยภาคสมัครใจ และไม่ได้ห้ามเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แต่ถือเป็นการไม่ใช้มาตรการบังคับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนรถจากรถตู้ไปเป็นไมโครบัสที่มีราคาสูง หรือประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อคัน จากราคารถตู้ที่อยู่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาทต่อคัน ทั้งนี้ หากใช้มาตรการบังคับ และผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัสนั้น อาจจะทำให้ปริมาณรถในระบบที่เคยให้บริการลดลง และส่งผลกระทบกับประชาชนในอนาคต

“ถ้าผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสนั้น ราคารถสูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น การปรับราคาค่าโดยสารสูงขึ้นก็จะตามมา และจะส่งผลกระทบกับประชาชน ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ถ้าต้นทุนที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการขับรถเร็วเพื่อ "ทำรอบ" เพิ่มขึ้นด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนให้ใช้รถไมโครบัสทดแทนรถตู้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้นนั้น จะต้องมีระบบบริหารจัดการรองรับต่อเนื่อง เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจัดซื้อรถให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนรถมากกว่า 10,000 คัน เป็นวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ขณะที่การจัดหาระบบซ่อมบำรุงรถไมโครบัส ซึ่งเกือบ 100% เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ระบบการซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ ต้องมีความพร้อม เพราะอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบริการประชาชนได้ รวมถึงการจัดหาสถานที่จอดรถในลักษณะสถานีจอดรถ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปัญหาจราจร และการจัดการเดินรถที่ไม่ทำให้ซ้ำเติมปัญหาจราจรด้วย

นโยบายดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือประชาชน และลดภาระประเทศ ด้วยการลดต้นทุนผู้ประกอบการ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน และลดการขาดดุลการค้า ซึ่งการให้เปลี่ยนรถด้วยระบบสมัครใจ ถือเป็นการไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อม แต่ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนได้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการมีความพร้อม จะเปลี่ยนเอง เพราะเป็นรถใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีโอกาสที่ประชาชนจะใช้บริการมากขึ้น

 

ทั้งนี้ การใช้มาตรการบังคับ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากจะเลิกดำเนินการธุรกิจต่อไป อาจจะนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ขณะเดียวกันการให้เปลี่ยนด้วยระบบสมัครใจ จะทำให้มีการตรึงราคาค่าบริการไว้ได้ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน ทั้งยังไม่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น จากสถิติอุบัติเหตุของรถตู้ส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นจากสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจของผู้ขับ รวมถึงสภาพแวดล้อม 72% และมีสาเหตุจากยานพาหนะเพียง 2.9% เท่านั้น ขณะที่รถโดยสารทั่วไป มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับ 67% และเกิดจากรถเพียง 6.8% ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ ผู้ขับยานพาหนะ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด

“แนวทางทั้งหมดนี้ มีเจตนารมณ์ เพื่อจะลดต้นทุนผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อม แต่ไม่ห้ามผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและจะต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของประชาชนผู้โดยสารสูงสุด ขอยืนยันว่า ให้มีการเปลี่ยนได้ด้วยความสมัครใจ ไม่บังคับให้เปลี่ยน และไม่ห้ามเปลี่ยน เพราะประชาชนผู้โดยสารจะเป็นผู้เลือกใช้บริการเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้หากประชาชนผู้โดยสารไม่เห็นด้วย และผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ไม่สร้างความเชื่อถือให้แก่ประชาชนผู้โดยสาร ก็อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพบริการ ความปลอดภัย และความพึงพอใจของประชาชนสูงสุด” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ด้านนายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้กรุงเทพและปริมณฑล กล่าวว่า การเปลี่ยนมินิบัส นั้นยอมรับว่าผู้ประกอบการสู้ต้นทุนรถใหม่ไม่ได้จริงๆ จึงใช้ภาคสมัครใจ เส้นทางไหนมีกำไรมีผู้โดยสารเยอะก็ให้เปลี่ยนเป็นมินิบัส ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนก็ให้ใช้รถตู้แบบเดิมเพราะสู้ราคาไม่ไหว อีกทั้งจุดจอดรถตู้สาธารณะหลายแห่งยังไม่เหมาะสมให้จอดมินิบัสด้วย

“เข้าใจมุมมองของประชาชนและนักวิชาการแต่ก็ต้องเข้าใจหัวอกผู้ประกอบการด้วย ทุกวันนี้รายได้ไม่พอ โดนรถไฟฟ้ากินสัดส่วนรายได้ลดลงไปเรื่อยๆ รัฐก็ไม่มีเยียวยาและรับประกันความเสี่ยงหากลงทุนไปแล้วขาดทุน”นายปัญญากล่าว

ส่วนเรื่องความปลอดภัยรถตู้ทีทมีน้อยกว่ามินิบัสนั้นขอชี้แจงว่า ปัจจุบันมีการล็อคความเร็ว GPS อยู่แล้ว ขอถามกลับว่ารถมินิบัสบรรจุคนได้ 21 คนกับรถตู้บรรจุคนได้ 12 คน หากเกิดอุบัติเหตุหรือตายทั้งคัน รถแบบไหนจะสูญเสียมากว่ากันเชิงปริมาณ ต้องดูผู้ประกอบการด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่นั่งสะดวกขึ้นลงสบาย แต่ไม่เห็นใจผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนเพิ่ม 2.2 ล้านบาม ผ่อนชำระเดือนละ 30,000 บาท