posttoday

PACE ปรับโครงสร้าง Dean & Deluca แยกพอร์ทชัดธุรกิจ 2 ฝั่ง อเมริกา และ เอเชีย

19 กรกฎาคม 2562

จับตารับดีลใหญ่ในอนาคต หลังจากแต่งตัวธุรกิจในไทยใหม่ ขยายธุรกิจผ่านแฟรนไชส์ และออนไลน์ รับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

 จับตารับดีลใหญ่ในอนาคต หลังจากแต่งตัวธุรกิจในไทยใหม่ ขยายธุรกิจผ่านแฟรนไชส์ และออนไลน์ รับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

จากรายงานข่าวของ "นิวยอร์กไทมส์" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าร้านอาหาร ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & Deluca) สหรัฐอเมริกา ได้ปิดกิจการไป 2 สาขาที่ Napa Valley ในแคลิฟอร์เนีย และอีกหนึ่งสาขาในแมนฮัตตัน ทางฝั่งอัพเพอร์อีสไซด์

ต่อเรื่องดังกล่าว สรพจน์ เตะชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงข่าวที่เกิดขึ้นพร้อมกล่าวติดตลกว่า "ร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้าที่ปิดสาขาในสหรัฐฯไปแล้วนั้น เป็นข่าวใหญ่ถึงขนาดได้ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เลยทีเดียว"

ก่อนจะย้อนที่มาถึงการเข้าซื้อกิจการธุรกิจร้านอาหาร แบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & Deluca) ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อราว 8 ปีก่อน จากเจ้าของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งเป็นชาวรัฐยูทาห์ สหรัฐฯ ด้วยมูลค่าราว140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยยอมรับว่าตลอดระยะเวลาที่เข้ามาจับธุรกิจร้านแบรนด์อาหารดังกล่าว ได้เผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขทุกปี

กระทั่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ตัดสินใจลดสเกลธุรกิจตามนโยบายเพื่อให้กิจการ ร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ได้ไปต่อ

ขณะที่สาขาที่ยังทำกำไรได้ดี เช่น สาขาโซโห ซึ่งเปิดให้บริการมากว่า 40ปี ส่วนสาขาคอนเซปท์ใหม่ คือ Stage บริษัทจะพัฒนาให้มีศักยภาพในการดำเนินงานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตแบบเทิร์นอราวด์ได้ในอนาคต

พร้อมวางเป้าหมายหลัก คือ "หยุดการขาดทุน" ในสิ้นปีนี้ จากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 40 ล้านบาท

ลดต้นทุน ลุยออนไลน์ ขยายแฟรนไชส์ในสหรัฐฯ

สำหรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของดีนแอนด์เดลูก้า สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะตลาดรีเทลทั่วโลกรวมถึงอเมริกาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลาดร้านโกรเซอรี (Grocery Store)สหรัฐฯ มีการขายอาหารพร้อมทานมากขึ้น และยังมีพื้นที่ให้นั่งทาน

นอกจากนี้ผู้บริโภคอเมริกัน ยังซื้อสินค้า ของใช้ต่างๆ และ อาหารออนไลน์มากขึ้นถึง30% ทำให้ร้านค้าปลีกต่างๆที่มีหน้าร้าน (Brick and Mortar Stores) ต่างปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภค

"บริษัท อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจและการดำเนินงานของดีนแอนด์เดลูก้า อเมริกาครั้งใหญ่ เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวไปต่อข้างหน้าได้ ทั้งแผนลดต้นทุนดำเนินการ ให้ลดลง 25% รวมถึงแผนการสร้างแบรนด์ และมุ่งเน้นการเปิด แฟรนไชส์ ในอเมริกา พร้อมทำออนไลน์ ให้มากขึ้น" สรพจน์ กล่าว

และจากแผนงานดังกล่าว ทำให้ถึงจังหวะเหมาะต่อการแบ่งธุรกิจเพื่อการดำเนินงานออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน คือ ดีนแอนด์เดลูก้า อิงค์ ดูแลตลาดในสหรัฐฯ และ ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย ภายใต้การดูแลของ PACE Food Retail โดยมีกลุ่ม PACE ถือหุ้น 100%

ปัจจุบัน(2562) PACE เป็นเจ้าของร้านดีนแอนด์ เดลูก้า จำนวน 5 สาขาในสหรัฐฯ และ 11 สาขาในประเทศไทย รวมถึงใน 12 ประเทศ จำนวน 77 ร้านสาขาทั่วโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบผู้รับสิทธิ์บริหารกิจการ(ไลเซนส์) ซึ่งในปีนี้จะมีอีก 6 สาขาใหม่เปิดให้บริการเพิ่ม

พร้อมตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่อง15% ทุกปี นับจากนี้ไป

โมเดลธุรกิจใหม่ในไทย ลุย ออมนิ-ชาแนล

PACE ปรับโครงสร้าง Dean & Deluca แยกพอร์ทชัดธุรกิจ 2 ฝั่ง อเมริกา และ เอเชีย สมศักดิ์ หงษ์ศรีจินดา กรรมการผุู้จัดการ บริษัทดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ฝั่งธุรกิจ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในประเทศไทยนั้น สมศักดิ์ หงษ์ศรีจินดา กรรมการผุู้จัดการ บริษัทดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากกระแสพฤติกรรมผู้บริโภค และการเปลี่ยนของเทคโนโลยี(ดิสรัปชัน) ที่เกิดขึ้นในตลาดค้าปลีกทั่วโลก

และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร อย่าง ดีน แอนด์ เดลูก้า ต้องปรับตัวตามเช่นกัน โดยดีนฯ ประเทศไทย ก็จะปรับโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบออมนิชาแนล คือ มีทั้งร้านสาขาควบคู่การให้บริกา่รออนไลน์ 

ขณะที่ ปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า มีตลาดเอเชียที่สำคัญในประเทศไทย 11 สาขา และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบไลเซนส์ ให้บริการ 41 สาขา ซึ่งทั้งสองตลาดมีจำนวนพนักงานรวมกันเกือบ 700 คน พร้อมมองว่าตลาดเอเชียในเวลานี้ยังมีประเทศที่มีศักยภาพเข้าไปทำตลาด อาทิ ฮ่องกง จีน อินเดีย และ ไต้หวัน

"ตลาดจีน ยังมีโอกาสสูงจากปัจจุบันอัตราการดื่มกาแฟของชาวจีนอยู่ที่เพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ส่วนไทย อยู่ที่ 14 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ขณะที่ธุรกิจร้านกาแฟในไทยมีหลายแบรนด์ใหม่เข้ามา ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาท " สมศักดิ์ กล่าว

 สมศักดิ์ ยังได้บอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทพร็อกเตอร์ แอนด์ แอนด์ แกมเบิล จำกัด (พีแอนด์จี) และยังเป็นที่ปรึกษานายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์

การเข้ามาร่วมบริหารดีนฯ ในครั้งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะมีพัฒนาการก้าวต่อไปของดีนฯ ประเทศไทยและเอเชีย แม้ว่าที่ผ่านมาเครือซีพี จะได้สิทธิ์ในการขยายธุรกิจ PAULร้านอาหารและเบเกอรีสไตล์ฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม แต่เฉพาะประเทศไทย

ดังนั้นในส่วนของดีนฯ ในฐานะที่เข้ามารับผิดชอบดูแลดีนฯ ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง รวมถึงแฟรนไชส์ที่บริษัทมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว อย่าง Kinghill Overseas Holding บริษัทย่อยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้สิทธิแฟรนไชส์เพื่อขยายร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ในจีน

บริษัท ลากาแดร์ ซึ่งเป็นทราเวล รีเทล จากฝรั่งเศส ที่มีขนาดของธุรกิจใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก และเป็นเจ้าของพื้นที่ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และ ร้านค้าปลีก ในสนามบิน 24 ประเทศทั่วโลกรวม 240 จุด ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดร้านดีนแอนด์เดลูก้า ฮ่องกง

ปัจจุบันสนามบินทั่วโลกกำลังปรับปรุงพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้โดยสาร และสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการเติบโตของสายการบินราคาประหยัดที่ไม่มีบริการอาหารบนเครื่องบิน ทำให้ร้านอาหารประเภท Grab and Go ซื้อแล้วถือไปกินบนเครื่องบิน เติบโตสูง

ล่าสุดบริษัท ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับลากาแดร์ และอยู่ระหว่างพิจารณาการขยายสาขาใน 5 ประเทศ รวมสิงค์โปร์ด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยปัจจุบัน ให้สิทธิ์แฟรนไชส์ กับ บริษัท สกาย ไนน์ทีน จำกัด ขยายร้านดีนฯ ใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่และสมุย โดยในสิ้นปีนี้เตรียมเปิดสาขาที่โบ๊ท ลากูน และ ย่านเมืองเก่าของภูเก็ต

รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสาขาริมชายหาดกระบี่ด้วย ส่วนแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯ ตลอดจนอินเดีย และไต้หวัน ซึ่งขณะนี้การเจรจาได้แล้วเสร็จ เหลือเพียงพิจารณาทำเล คาดว่าจะเปิดเผยได้ภายในปีนี้

และในเร็วๆ นี้ยังเตรียมเปิดเผยความร่วมมือทางธุรกิจกับ แกร็บ ประเทศไทย ผู้ให้บริการส่งอาหารด้วย เพื่อขยายธุรกิจไปสู่โมเดล ออนไลน์ เซอร์วิส

สำหรับยอดขาย ดีน แอนด์ เดลูก้า (ประเทศไทย) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้รวมประมาณ 523 ล้านบาท(EBITDA 115.23 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560-2561 โดยในปีนี้วางเป้าเติบโต 15%

PACE ปรับโครงสร้าง Dean & Deluca แยกพอร์ทชัดธุรกิจ 2 ฝั่ง อเมริกา และ เอเชีย