posttoday

ลุ้นรัฐมนตรีใหม่กดปุ่มลงทุน 42 โครงการ มูลค่า 3.53 ล้านล้านบาท

16 กรกฎาคม 2562

‘อาคม’ สุดภาคภูมิใจผลงานชิ้นโบว์แดง ปลดล็อคธงแดง ยันคนไทยได้ใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ทุกปี

‘อาคม’ สุดภาคภูมิใจผลงานชิ้นโบว์แดงปลดล็อคธงแดง ยันคนไทยได้ใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ทุกปี

โดย ทศพล หงศ์ทอง


ทิ้งทวนการทำงานวันสุดท้ายของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐมนตรีที่ขยันทำงาน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่เคยว่างเว้นการลงพื้นที่พบประชาชน จนเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาของนักข่าวสายคมนาคม

ความตั้งใจสะท้อนผ่านผลงานมากมาย ตั้งแต่การกดปุ่มรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์เส้นทางแรกให้เริ่มก่อสร้างไปได้ ไปจนถึงการพัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ไปจนถึงการปลดล็อคธงแดง ซึ่งนายอาคม ภูมิใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

"งานที่ผมภูมิใจมาก คือ การปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานหลายโปรเจ็กส์ผ่านไปได้ด้วยดี และหลังจากนี้ทุกปีคนไทยจะได้ใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ จะมีการเปิดเส้นทางใหม่ทุกปีอย่างน้อย 4-5 ปีนับจากนี้" นายอาคมกล่าว

ทีมรัฐมนตรีใหม่เตรียมตบเท้าเข้ากระทรวง

ขณะที่รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง จากพรรคพลังประชารัฐ และ นายถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์

ถือฤกษ์งามยามดี ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ตบเท้าเข้ากระทรวงคมนาคม ซึ่งถืออว่าเป็นกระทรวงเกรดเอที่มีผลต่อทั้งเศรษฐกิจและคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทำให้ถูกจับจองจากหลายพรรคการเมือง

ทว่าดาบอาญาสิทธิ์อยู่ที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะเป็นคนแบ่งหน้าที่ให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปควบคุมหน่วยงานในกำกับดูแล ไม่น่าแปลกใจที่ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงทุกสำนักจะถูกยกให้เป็นสายแข็งแห่งวงการสื่อ

เพราะกระทรวงคมนาคมควบคุมหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเกือบ 20 แห่ง ได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ,สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.),กรมเจ้าท่า(จท.) สถาบันการบินพลเรือน(สบพ.) กรมท่าอากาศยาน(ทย.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ,องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)

บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.),บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) ,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.),การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.),บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด(แอร์พอร์ตลิ้ง), บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเซีย จำกัดและบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)

กดปุ่มลงทุนเมกะโปรเจ็กส์ 42 โครงการ ลงทุนรวม 3.53 ล้านล้านบาท

สำหรับเมกะโปรเจ็กส์ที่ต้องรอเหล่าคณะรัฐมนตรีใหม่เข้ามาขับเคลื่อนให้สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเปิดประมูลไปจนถึงโครงการที่เตรียมลงนามสัญญานั้นมีอยู่หลายโปรเจ็กส์ด้วยกัน
เริ่มจากโครงการพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. คือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน2.2 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท และ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO) สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน1 หมื่นล้านบาท

ส่วนด้านโครงการรถไฟฟ้าในเมืองหลวงและเมืองหลักของประเทศนั้น ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน2.3 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะวงเงิน 1 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.57 พันล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7.46 พันล้านบาท และส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงินรวม 4.41 หมื่นล้านบาท

รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงมิสซิงก์ลิงก์ประกอบด้วยสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง25.9 กม. วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่รถไฟฟ้าต่างจังหวัดได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.เชียงใหม่ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.นครราชสีมา วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนด้านโครงการรถไฟทางคู่นั้นต้องเร่งผลักดันแผนก่อสร้างเฟส 2 เพื่อขยายโครงข่าย ลดเวลาเดินทางรถไฟธรรมดาให้กับประชาชน สำหรับสองโครงการที่จ่อเปิดประมูลคือ รถไฟทางคู่ช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมวงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของวงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เตรียมเสนอ ครม. นั้นได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8 พันล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลามูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ระนอง-ชุมพร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นจะต้องเร่งผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอาเซียน (Asean Connectivity) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาทโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี เฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา- ช่วงอู่ตะเภา-ตราด วงเงิน 5 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ วงเงิน5 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

ส่วนด้านโครงการพัฒนาสนามบินขนาดใหญ่ ที่ต้องกดปุ่มผลักดันเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดการบินนั้น ได้แก่ โครงการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำของการบินไทย วงเงิน 1.35 แสนล้านบาท โครงการสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 วงเงินลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท รองรับ 10 ล้านคน/ปี โครงการสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 รองรับ 10 ล้านคน/ปี

โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 4.2 หมื่นล้าน รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปีโครงการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารฝั่งตะวันตกสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 7 พันล้านบาท โครงการดอนเมืองเฟส 3 วงเงินลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาทรองรับได้18 ล้านคน/ปี

และโครงการรับโอน 4 สนามบินภูมิภาค ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินสกลนคร สนามบินตากและสนามบินชุมพร วงเงินลงทุน3.5 พันล้านบาท

ขณะที่โครงการพัฒนาถนนหนทางสายหลักอย่างมอเตอร์เวย์นั้นได้แก่โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท

โครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท โครงการทางยกระดับสายใต้แก้ปัญหารถติดได้แก่ เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย วงเงิน 1 หมื่นล้านเฟส 2 ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้วและ ช่วง บ้านแพ้ว-วังมะนาว วงเงินลงทุนรวม 4 หมื่นล้านบาท

โครงการทางยกระดับเชื่อมสนามบินช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน3.5 หมื่นล้านบาท โครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 6.1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามยังมีโครงการทางด่วนภูเก็ต ช่วงกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่3สายเหนือตอน N2 ช่วงวงแหวนตะวันออก-แยกเกษตร วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงข่ายทางยกระดับ อุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทาง2.6กม. วงเงิน6.2 ล้านบาท

คมนาคมยันบิ๊กโปรเจ็กส์ไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์ - มั่นใจส่งงานรมต.ใหม่ไร้รอยต่อ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคมกล่าวว่าสำหรับการส่งมอบงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่นั้นมองว่า โครงการต่างๆมีแผนอยู่แล้วเป็นไปตามแผนปฏิบัติการก็สามารถเดินต่อได้ เรื่องไหนที่อยู่ในกระบวนการเมื่อรัฐบาลใหม่มาก็สามารถเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้

สำหรับประเด็นที่มีความเป็นห่วงว่าบางโครงการที่วางแผนไว้จะไม่ราบรื่นต่อเนื่องหรือถูกล้มเลิกโครงการเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนั้นเรามีกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นกรอบนำทางซึ่งวันนี้ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ต้องมีกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีที่กำกับการทำงานของรัฐบาลในทุกรัฐบาล ดังนั้นแผนพัฒนาจะไม่หบุดชะงักแบบโครงการโฮปเวลล์แน่นอน