posttoday

ผลกระทบเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง!! ขสมก.เล็งปลดพนักงาน 5,000 คนใช้ไอทีทดแทน คาดลดต้นทุนปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท

12 กรกฎาคม 2562

'ผอ.ขสมก.' เผยรายได้เพิ่มวันละล้าน คิดเป็น 10% หลังขึ้นค่ารถเมล์ใหม่ ไม่รับปากเชื่อมตั๋วร่วมรถเมล์-รถไฟฟ้าทันปีนี้ ตั้งทีมสู้คดี E_Ticket 300 ล้านบาท

'ผอ.ขสมก.' เผยรายได้เพิ่มวันละล้าน คิดเป็น 10% หลังขึ้นค่ารถเมล์ใหม่ ไม่รับปากเชื่อมตั๋วร่วมรถเมล์-รถไฟฟ้าทันปีนี้ ตั้งทีมสู้คดี E_Ticket 300 ล้านบาท


นายสุระชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่อย่างรวดเร็ว และสามารถนำมาลดต้นทุนให้กับองค์กรได้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินจำนวนแสนล้านบาท ทำให้เทคโนโลยีจะเข้ามาดัสรัปชัน(disruption) กับบุคลากรของ ขสมก.

สอดคล้องกับแผนลดรายได้ในแผนฟื้นฟูขสมก.จึงมีแผนลดจำนวนพนักงานในรูปแบบเออร์ลี รีไทร์ (Early Retire) จำนวนทั้งสิ้น 5,000 คน ตามแผนที่วางไว้ แบ่งเป็นลดพนักงานในปี 2563 จำนวน 600 คน ลดพนักงานในปี 2564 จำนวน 2,000 คนและในปี 2565 จำนวนมากกว่า 2,400 คน

อย่างไรก็ตามพนักงานที่โดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานห้องขายตั๋ว เนื่องจากขสมก.จะพัฒนาระบบรถเมล์ไร้เงินสด กล่าวคือในอนาคตจะมีกล่องหยอดเหรีญ (Cash box) ติดตั้งบนรถเมล์ และจะมีการใช้บัตรโดยสารแบบ E-Ticket จึงไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถเมล์อีกต่อไป

คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะลดต้นทุนพนักงานได้ปีละ 39-40% หรือราว 1,500-2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีต้นทุนพนักงานราว 4,000 ล้านบาท

นายสุระชัย กล่าวว่า ภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติให้ขสมก.ปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่นั้น พบว่าสามารถเพิ่มรายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์กรราว 10% จากเดิมมีรายได้วันละ 10-11 ล้าน ปัจจุบันมีรายได้ 11-12 ล้านบาท คิดเป็นอัตรารายได้เพิ่มขึ้นวันละ 1 ล้านบาท หรือเดือนละ 30 ล้านบาท

สำหรับแผนการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม หรีอ บัตรแมงมุม กับรถไฟฟ้านั้น ขอพิจารณาแนวทางพัฒนา 1 เดือนว่าจะใช้ระบบ 4.0 ของ รฟม.หรือจะใช้ระบบ EDC ของธนาคารกรุงไทย ดังนั้นจึงยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเชื่อมต่อตั๋วร่วมได้ภายในปีนี้ตามเป้าหมายกระทรวงคมนาคมหรือไม่

นายสุรชัยกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) CHO เตรียมดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากที่ขสมก.บอกเลิกสัญญาโครงการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกล่องหยอดเหรียญ(E-Ticket) โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามจริงราว 300 ล้านบาท นั้น

ตอนนี้เอกชนยังไม่ฟ้องร้องเข้ามา จึงยังไม่มีแนวทางต่อสู้คดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขสมก.ก็เสียประโยชน์เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องรอเข้าสู่กระบวนการศาล ขณะนี้ ขสมก.หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อหาแนวทางในการต่อสู้คดี ควบคู่ไปกับการว่าจ้างที่ปรึกษาสำนักงานทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายแพ่งและกฎหมายปกครอง เพื่อเตรียมต่อสู้คดีกับเอกชน เรียบร้อยแล้ว