posttoday

เดินหน้าศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาฯ รับตลาดการบินเอเชีย 2พันลำ

11 กรกฎาคม 2562

คมนาคมดัน MROอู่ตะเภา รองรับตลาดการบินเอเชีย 2,000 ลำ เล็งดึงโบอิ้ง ลงทุนศูนย์ซ่อมโคราช-เชียงราย ชิงสัดส่วนตลาดภูมิภาคหลังดีมานต์ซ่อมเครื่องบินล้นเอเซีย

คมนาคมดัน MROอู่ตะเภา รองรับตลาดการบินเอเชีย 2,000 ลำ เล็งดึงโบอิ้ง ลงทุนศูนย์ซ่อมโคราช-เชียงราย ชิงสัดส่วนตลาดภูมิภาคหลังดีมานต์ซ่อมเครื่องบินล้นเอเซีย

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.)ได้เรียก บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)เข้ามาชี้แจงแผนพัฒนาก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO)วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทแอร์บัส ดังนั้นจึงต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมเพื่อวางเงื่อนไขเรื่องการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดเสรี MRO ในไทย อาทิ เงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำเข้าเทคโนโลยีและเงื่อนไขในการลงทุนปลีกย่อยเป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้ในขณะนี้ต่างชาติจะสามารถถือหุ้นได้เกิน 51% แล้วก็ตาม แต่กพท.มองว่า MRO ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) บริเวณสนามบินอู่ตะเภานั้น จะมีศักยภาพอย่างมากในการสร้างรายได้ให้กับประเทศและกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค ส่งผลให้ในแต่ละปีมีเครื่องบินเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับ MRO ในภูมิภาคเอเชียนั้นส่วนใหญ่งานล้นมือหมดแล้วไม่สามารถรองรับออเดอร์ใหม่ได้อีก จึงเป็นโอกาสที่จะรับเครื่องบินเหล่านั้นเข้ามาซ่อมในประเทศไทย โดยเฉพาะสายการบินจากประเทศจีนที่มีเที่ยวบินจำนวนมาก

ทั้งนี้ในอีก 2-3ปีข้างหน้า ตลาดการบินยังคงเติบโตมากในเอเชีย ทั้งปริมาณผู้โดยสารและจำนวนสั่งซื้อเครื่องบิน ซึ่งมีมากกว่า 100 ลำ ที่รอส่งมอบ ด้านความพร้อมในการรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการซ่อมอยู่แล้ว ทั้งด้านองค์ความรู้เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอะไหล่การบินที่มีผลิตใช้กันอยู่แล้ว หากจะเปรียบเครื่องบินก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ต้องมีการตรวจสภาพตามรอบหรือต้องตรวจสภาพเมื่อถึงระยะเวลาเดินทางที่กำหนดเป็นประจำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ในอนาคตจะเปิดให้บริษัทผู้ผลิตรายอื่นอย่าง โบอิ้ง (Boeing) เข้ามาลงทุนในประเทศด้วย เนื่องจากที่สนามบินโคราชและสนามบินเชียงรายยังมีพื้นที่รองรับอีก 3,000 ไร่ในการลงทุนศูนย์ซ่อม MROได้อีก ด้านนโยบายการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน MRO ในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิทธิพิเศษในการลงทุน อาทิ การยกเว้นภาษีราไยด้และการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรเป็นต้น

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าจากการเปิดเผยข้อมูลแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในทวีปเอเชียของบริษัทแอร์บัส พบว่าปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนตลาดมากที่สุดของโลกที่ 30% โดยมีจำนวนเครื่องบินรวมกันทั้งสิ้น 1,900 ลำ คาดว่าในอีก 20 ปี ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องการเครื่องบินเพิ่มอีก 3,200 ลำ รวมมูลค่าลงทุน 18.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก 2,000 ลำ คิดเป็นเงินลงทุน 6.3 ล้านล้านบาท และเครื่องบินขนาดใหญ่อีก 1,200 ลำ ลำ เฉลี่ยลำละ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุน 12 ล้านล้านบาท

ขณะที่ตลาดจีนนั้น บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนภายใต้ชื่อว่า อวิเอชั่น ซัพพลายส์ โฮลดิ้งส์ คอมปานี เพียงบริษัทเดียว แต่มีคำสั่งซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสมากกว่า 300 ลำ วงเงินลงทุนรวม 5.7 แสนล้านบาท ส่วนด้านภาพรวมตลาดการบินทั่วโลกนั้นปัจจุบันธุรกิจการบินทั่วโลกเติบโตอย่างมาก มีปริมาณเที่ยวบินสูงถึง 51 ล้านเที่ยว รวมผู้โดยสาร 3,600 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก 7,500 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาดการบินพุ่งสูงถึง 94.5 ล้านล้านบาทในแต่ละปี (2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)