posttoday

กางแผน7มอเตอร์เวย์สายใหม่ลงทุนทะลุ1ล้านล้าน

18 มิถุนายน 2562

คมนาคมเปิดแผนแม่บทมอเตอร์เวย์สายใหม่ 7 เส้นทางลงทุนทะลุ 1 ล้านล้านบาทเกาะทางหลวงสายหลัก พร้อมพ่วงแผนมอเตอร์เวย์ PPP เฉียดสองแสนล้านตั้งเป้าพัฒนาใน 3-5 ปี

คมนาคมเปิดแผนแม่บทมอเตอร์เวย์สายใหม่ 7 เส้นทางลงทุนทะลุ 1 ล้านล้านบาทเกาะทางหลวงสายหลัก พร้อมพ่วงแผนมอเตอร์เวย์ PPP เฉียดสองแสนล้านตั้งเป้าพัฒนาใน 3-5 ปี

ดร.ชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ออกแบบแผนแม่บทพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์ของประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้กระทรวงคมนาคมนำไปบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ จากการศึกษาพบว่า แนวเส้นทางของทางหลวงสายหลักในปัจจุบันที่มีแนวเส้นทางตามแนวเส้นทางของแผนแม่บทและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้ มีจำนวน 7 สายทาง 17 ตอน ระยะทางรวม 2,796 กม. วงเงินลงทุนรวม 1.27 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้มอเตอร์เวย์สายใหม่ประกอบไปด้วย 1. สายภาคกลาง-ตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงจ.นครสวรรค์-จ.ขอนแก่น ระยะทางรวม 429 กม. วงเงิน 2.01 แสนล้านบาท 2.มอเตอร์เวย์สายภาคกลาง-ภาคเหนือ ช่วงจ.นครสวรรค์-จ.อุตรดิตถ์-จ.ลำปาง ระยะทางรวม 391 กม. วงเงิน 1.93 แสนล้านบาท

3.มอเตอร์เวย์สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางรวม 344 กม. วงเงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท 4.มอเตอร์เวย์สายใต้ช่วงชะอำ-ด่านชายแดนสุไหงโกลก ระยะทางรวม 984 กม. วงเงินลงทุน 4.22 แสนล้านบาท 5.มอเตอร์เวย์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-จ.นครราชสีมา ระยะทางรวม 288 กม. วงเงินลงทุน 1.29 แสนล้านบาท

6.มอเตอร์เวย์ช่วงกรุงเทพ-จ.สระแก้ว วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 161 กม. และ7.มอเตอร์เวย์สายตะวันออก ช่วง จ.-ชลบุรี-จ.ระยอง-จ.ตราด ระยะทางรวม 216 กม. วงเงินลงทุน 9.7 หมื่นล้านบาท

ดร.ชยธรรม์ กล่าวว่า สำหรับเส้นทางนำร่อง วางเป้าหมายการพัฒนาทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย M71 Section 1 ตอนกรุงเทพฯ-สระแก้ว และ M5 Section3 ตอนนครสวรรค์-พิษณุโลก โดยรูปแบบมอเตอร์เวย์นั้นต้องการมีพื้นที่ เขตทางไม่น้อยกว่า 50 -60 เมตร มีสภาพกายภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาและการก่อสร้างโครงสร้าง ทางแยก จุดตัด ด่านเก็บเงิน รวมทั้งทางบริการที่จำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นเพื่อลดผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นจากการริดรอนสิทธิของประชาชนที่เคยใช้การเดินทางของทางหลวงสายหลักเดิม

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า แผนแม่บทดังกล่าวจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง เบื้องต้นมองว่าแผนแม่บท ต้องพัฒนาไปเป็นระยะและมั่นใจว่าจะไม่กระทบแผนพัฒนามอเตอร์เวย์ระยะ 3-5 ปี ของกรมทางหลวง ซึ่งมีอยู่ 3 เส้นทาง ขณะนี้ได้บรรจุอยู่ในแผนร่วมทุน PPP เพื่อเตรียมพัฒนาแล้ว (PPP Piepline)มีมูลค่ารวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์ช่วงนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ช่วงหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย ระยะทาง 63 กม. วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กม. วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินช่วงนครปฐม-ชะอำ โดยจะมีการทยอยเบิกงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 นำมาจ่ายค่าเวนคืน ควบคู่กับการเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ของรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา ส่วนหลักการในการพัฒนามอเตอร์เวย์ นั้น ต้องเน้นไปที่การขยายโครงข่ายออกมาจากเมืองหลวงและการพัฒนาเส้นทางจากแนวชายแดนเข้าสู่เมืองหลัก