posttoday

ส่องเศรษฐกิจออนไลน์ ตอน : บิ๊กตู่ซีรีย์ใหม่...การเดินหน้าคงไม่ง่าย

17 มิถุนายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ค่อนข้างเห็นเป็นรูปร่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคร่วมใหญ่สองพรรคคงลงตัว เห็นจากรอยยิ้มของ คุณจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ แคนดิเดตว่าที่รองนายกฯและควบรัฐมนตรีพาณิชย์

ขณะที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ส่วนที่ยิ้มไม่ค่อยออกบ้างว่าถึงขนาดกลืนเลือดตัวเองคือแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่แบ่งเค้กภายในบ้านตัวเองไม่ค่อยจะลงตัวเพราะจำนวนเก้าอี้รัฐมนตรีไม่พอขนาดบิ๊กๆยังไม่ได้ตำแหน่ง แถมกระทรวงดีๆยกให้พรรคร่วมเป็น “ตาอยู่” เอาไปหมดจนบิ๊กตู่ต้องออกมาปรามขอให้จบ แต่คนอกหักบางคนยังไม่ยอมถอย จนมีกระแสพลเอกประยุทธ์ฯอาจเข้ามานั่งเป็นหัวหน้าพรรคสั่งการเอง มาถึงขนาดนี้แล้วโควต้าพรรคร่วมและแกนนำในมุ้งต่างๆคงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงต้องดูรายชื่อจริงจะตรงตามกระแสหรือไม่

บิ๊กตู่...ซีรีย์ใหม่การเดินหน้าคงไม่ได้ง่ายเพราะแบ่งเค้กกินกันไม่พออาจสร้างรอยร้าวในพรรคของตนเอง ในสภาผู้แทนราษฎรมีการไล่บี้กันหนักแบบไม่รู้ว่าไม่ถูกกันมาแต่ชาติไหน เช่น เกมส์ไล่ล่าแม่มดในโซเซียลมิเดีย รวมทั้งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นส.ส.คนแรกที่ถูกพักงานไม่ให้เข้าสภาจากการโอนหุ้นสื่อและยังมีคดีการให้พรรคยืมเงินเป็นเงินร้อยกว่าล้านบาท ยังไม่รวมกกต.รับคำร้องให้ตรวจสอบเรื่องรายชื่อส.ส.ที่เป็นงูเห่าว่ารับสตางค์ 30-120 ล้านไม่ใช่แค่พูดเล่นๆ แต่ต้องเปิดเผยที่มาหากเป็นเท็จถึงขั้นยุบพรรค

ด้านพันธมิตร 7 พรรคได้คะแนนสูสีรับสภาพเป็นฝ่ายค้านเตรียมเสนอชื่อผู้นำฝ่ายค้านและเริ่มสตาร์ทอัพเปิดเกมส์รุกให้ตรวจสอบ 41 ส.ว.ขาดคุณสมบัติเพราะไปโยงกับธุรกิจสื่องานนี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เปิดสภาจะเห็นการตีรวนเพราะต่างมีแผลคาใจกันทั้งนั้น มีการเตรียมเช็คบิลเรื่องงบประมาณและรื้อยุทธศาสตร์ชาติ แต่จะเล่นกันอย่างไรขอให้ถอดบทเรียน 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความขัดแย้งในสภาถูกลากออกไปสร้างมวลชนทำให้เกิดการขัดแย้งเป็นวิกฤตของประเทศ จนคสช.ต้องเข้ามาแต่ดันไปติดกับดัก “อำนาจ”แทนที่จะเป็นฮีโร่กลายเป็นติดหล่มลงจากหลังเสือไม่ได้ประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นครึ่งใบต้องมีส.ว. 250 คนเป็นกองหนุน ที่กังวล คือ หากจะทำอะไรขอให้อยู่บนกติการัฐธรรมนูญเล่นกันในสภาแต่อย่าไปดึงมวลชนเข้ามาเล่นเกมส์ถล่มประเทศไทยกลางถนน เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งหนักลงไปอีกผู้ที่เดือดร้อนคือคนไทยทั้งประเทศ

ภาคธุรกิจโดยเฉพาะพวกรายเล็กๆ คาดหวังว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้าทำเนียบคงอยู่ได้ไม่นานขอให้เร่งทำงานเพราะเวลามีน้อย ปัญหาปากท้องชาวบ้านเป็นเรื่องใหญ่กลับมาคราวนี้ไม่ต้องไปประเคนให้พวกเจ้าสัวหรือธุรกิจรายใหญ่เพราะโครงสร้างเมกะโปรเจคอาจดันจีดีพีให้โตได้ แต่เม็ดเงินไม่ลงไปถึงเอสเอ็มอี

ขณะนี้บอกได้เลยว่าอยู่ในสภาวะแย่สุดๆเห็นได้จากหนี้เสียครัวเรือนสูงสุดในรอบหลายปี สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆคือนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ เพราะรัฐบาลมีพรรคร่วม 19-20 พรรค แตกต่างด้านนโยบายที่ไปหาเสียง ส่วนพรรคย่อย ๆ ประเภทหนึ่งพรรคมีหนึ่งเสียงแต่อยากได้โน้นอยากได้นี่จะจัดการกันอย่างไร ทุบโต๊ะแบบทหารนักการเมืองระดับเซียนพวกนี้เขาจะฟังไหมเพราะทุกคะแนนเสียงมีค่าต่อเสถียรภาพรัฐบาล

กลับมาที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจคราวนี้กระจายไปให้กับพรรคร่วม มีการถ่างขาควบรองนายกฯเป็นการกั๊กว่ากระทรวงของฉันใครอย่ามาแตะ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเก่าคงมองออก “ขอบาย” ไม่รับตำแหน่งเพราะถึงจะกลับมาเป็นรองนายกฯหรือที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจคงทำอะไรไม่ได้มาก

งานนี้นายกฯคงต้องนั่งเองแต่ต้องหาที่ปรึกษาประเภทมือถึง พรรษามาก เป็นบุคคลที่พรรคร่วมยอมรับเพื่อทำหน้าที่กำกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนเก่าเขาอยากพักก็ควรให้พักไปมิเช่นนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะเหมือนเดิม

ประเด็นเร่งด่วนคือการแก้ปัญหาด้านส่งออกที่ถดถอยเป็นปัจจัยจากสงครามการค้าโลกส่งผลกระทบถึงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ไปดึงให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว กระทบไปถึงสภาพคล่องธุรกิจตึงตัว หนี้ภาคเอกชนจากการค้าขายส่งสัญญาณไม่ค่อยดีมาปีเศษแล้วมีการขอเครดิตยาวถึงเวลาจ่ายเงินแล้วยังเลื่อนหรือต้องฟ้องร้องทำให้เงินในภาคธุรกิจฝืด พวกเอสเอ็มอีไม่ต้องพูดถึงแบงค์กลัวเป็นหนี้เสียไม่อยากปล่อยรัฐบาลจะทำอะไรได้ก็ให้เร่งทำก่อนที่จะลามไปมากกว่านี้

โครงการประชานิยมทำมาหลายปีมอมเมาจนประชาชนเสพติดทำอะไรไม่ได้แล้วต้องให้เสพต่อไป เช่นโครงการประชารัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีคนแบมือขอ 14 ล้านคน บัตรคนชรา โครงการบ้านล้านหลัง ฯลฯ คงต้องเดินหน้าเพราะมาไกลเกินกว่าจะหยุดปัญหาไว้แก้ในอนาคต

ถึงตอนนั้นหลายคนที่เป็นต้นคิดคงลาไปปรโลกแล้ว ถึงจะด่าก็ไม่ได้ยิน โครงการค่าโง่โฮปเวลล์เป็นตัวอย่างได้อย่างดี เรื่องที่อยากย้ำเป็นงานเร่งด่วนของรัฐบาลคือเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้าน การแก้ปัญหาต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าเศรษฐกิจภาคประชาชนไม่ดีจริงๆ หากยังติดยึดว่าจีดีพียังเป็นบวกและดีกว่าตอนคสช.เข้ามาหากเริ่มต้นอย่างนี้คงแก้อะไรไม่ได้

อีกเรื่องที่ต้องฝากไว้ คือ เอสเอ็มอีและเศรษฐกิจชุมชนกลุ่มพวกนี้อุ้มแรงงานไว้ร้อยละ 60-70 ปกติก็อ่อนแออยู่แล้วจะแก้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ยาก การกลับมาเป็นนายกฯของบิ๊กตู่ซีรีย์ 2 เป็นความท้าทายของผู้นำประเทศที่มาจากทหารซึ่งมีความเข้มแข็งเด็ดขาดเป็นจุดขาย แต่ในรัฐสภาและการเมืองในรัฐบาลเป็นเรื่องของการชิงไหวชิงพริบและประนีประนอมความเข้มแข็งกลับกลายเป็นจุดอ่อน แต่ที่หนักกว่าคือปัญหาภายในของบ้านตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลที่นอกจากมีมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์แถมในพรรคยังมีสารพัดมุ้งไม่เป็นเอกภาพ...งานนี้ต้องพกพระรอดอย่างเดียวเอาใจช่วยครับ


(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)