posttoday

ผู้ว่ารฟม.หนุนรัฐช่วยอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ประชาชน

29 มกราคม 2562

ผู้ว่ารฟม. หนุนรัฐอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าเมืองหลวงให้กับประชาชน แนะตรึงค่ารถไฟฟ้าภูธรเชียงใหม่-ภูเก็ต ช่วยเหลือชาวบ้านเข้าถึงระบบขนส่งหลัก ด้านสนข.เผยผลศึกษาคนไทยรับค่าโดยสารไม่ไหว

ผู้ว่ารฟม. หนุนรัฐอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าเมืองหลวงให้กับประชาชน แนะตรึงค่ารถไฟฟ้าภูธรเชียงใหม่-ภูเก็ต ช่วยเหลือชาวบ้านเข้าถึงระบบขนส่งหลัก ด้านสนข.เผยผลศึกษาคนไทยรับค่าโดยสารไม่ไหว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีกระแสข่าวแผนแม่บทพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งมีระบุว่าจะมีแนวทางพิจารณาอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้กับประชาชนโดยพนักงานบริษัทสามารถนำบิลค่าเดินทางมาเบิกได้คล้ายกับค่าน้ำมัน เช่นเดียวกับพนักงานข้าราชการสามารถเบิกค่าเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ได้ด้วยเช่นกัน

เบื้องต้นแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อนำไปสู่การลดจำนวนยานพาหนะแก้ปัญหารถติดในระยะยาว อย่างไรก็ตามนโยบายการอุดหนุนและส่งเสริมค่าโดยสารนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีแตกต่ากงันตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่นรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยควบคู่ไปกับการตรึงค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงระบบขนส่ง

ขณะที่ในอนาคตนั้นประเทศไทยก็สามารถทำได้แบบในต่างประเทศหรือแบบในประเทศญี่ปุ่นคือการอุดหนุนค่าโดยสารค่ารถไฟฟ้าให้กับประชาชนในหัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ตลอดจนวิธีการควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนจับจ่ายได้ (Affordable Price) แล้วรัฐบาลค่อยอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารที่เหลือ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้ค่าโดยสารราคาถูกและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ อาทิ ค่ารถไฟฟ้าราคาเต็มตลอดสาย 100 บาท ประชาชนจะจ่ายเต็มราคาเพียง 40 บาท ส่วนอีก 60 บาทรัฐบาลจะจ่ายเงินค่าอุดหนุนให้กับเอกชน

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับระบบขนส่งรถไฟฟ้าในภูมิภาคนั้นซึ่งมีหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการและแนวทางการลงทุน นั้นรัฐบาลสามารถอุดหนุนค่าโดยสารส่วนต่างให้กับเอกชนผู้เดินรถสายนั้นๆหรือเป็นเอกชนผู้ชนะโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสายตามหัวเมือง โดยใช้เงินภาษีท้องถิ่นหรือรายได้ที่มาจากท้องถิ่นเข้ามาเป็นตัวอุดหนุนค่าโดยสารให้มีราคาที่สมเหตุสมผลกับคนต่างจังหวัดและจูงใจให้ประชากรท้องถิ่นหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตามในส่วนของรฟม.นั้นปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ได้มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดของโครงการไว้ที่ 16-42 บาทตลอดสายและจะยังคงอัตราราคาดังกล่าวไว้ แม้จะมีการเพิ่มส่วนต่อขยายแต่ราคาไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

ดังนั้นในอนาคตเมื่อรถไฟ้ฟาดังกล่าวเปิดครบเฟสในปี 2563 คือช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค ระยะทางรวมประมาณ 40 กม. จะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท หรือ เฉลี่ยไม่ถึง 1 บาท/กม. ถือว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าที่ถูกสุดในกรุงเทพมหานคร

แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ระบุว่าจากผลการศึกษาแผนแม่บท M-MAP 2 ซึ่งรวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ประชากรต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าจำนวนมากในแต่ละเดือน ดังนั้นในอนาคตประชาชนจะไม่สามารถรับภาระค่าโดยสาร 100-120 บาท/เที่ยว ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากหลังจากปีนี้เป็นต้นไปจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดบริการแทบทุกปี

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมองว่ารัฐบาลมีความสามารถตรึงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ประชาชนได้ 20-30 บาท ตลอดสายขึ้นอยู่กับสูตรคำนวณเรื่องการอุดหนุนให้เอกชนว่าจะมีแนวทางเจรจาออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ขณะนี้รถไฟฟ้าสายหลักอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกทม.นั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจาขอให้ผู้เดินรถอย่างบีทีเอสยอมลดราคาค่าโดยสารตลอดสายจาก คูคต-สมุทรปราการ ให้อยู่ที่ 65 บาท ตลอดสายจากผลการศึกษาเดิมราคาสายสีเขียวสูงสุดที่ 145 บาทตลอดสาย เช่นเดียวกับรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ภูมิภาคในต่างจังหวัด อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลกและขอนแก่นนั้นสามารถกำหนดแนวทางการตรึงราคาค่าโดยสารได้เช่นกันจากการดูแลของหน่วยงานท้องถิ่น

ด้านนายเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการด้านศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแผนแก้กฎหมายจราจรเพื่อเปิดช่องให้เอกชนสามารถดำเนินการล็อคล้อและยกรถผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรได้ทันทีสำหรับผู้ที่ชอบจอดรถกีดขวางจราจร โดยไม่ต้องให้เป็นหน้าที่ของตำรวจอีกต่อไป เช่นเดียวกับในต่างประเทศส่วนค่าใช้จ่ายเจ้าของรถต้องเป็นคนจ่าย เพื่อจัดระเบียบผู้ที่กระทำผิดกฎจราจรควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหารถติดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยหลังจากนี้จะหารือร่วมกับตำรวจกรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางปฏิบัติเช่น การจัดพื้นที่สำหรับจัดเก็บยานพาหนะเมื่อถูกยกออกจากพื้นที่หรือจุดจอด ซึ่งไม่มีการกำหนดว่าต้องเสร็จภายในกี่นาทีแต่ต้องยกรถออกจากพื้นที่ทันทีเมื่อพบเห็นการกระทำผิด โดยต้องหาเอกชนหรือหน่วยงานรับผิดชอบว่าใครจะดูแลเรื่องรถ ใครจะดูแลเรื่องอุปกรณ์การยกรวมถึงสถานที่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ประชาชนผู้กระทำผิดจะต้องเป็นคนรับภาระค่ายกรถและค่าเสียเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาลอีกต่อไป