posttoday

กรณีศึกษาสังคมไร้เงินสดในจีนและไทย

29 มกราคม 2562

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำร่ำลือถึงสังคมไร้เงินสดของประเทศจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้

เรื่อง ธนาวัฒน์

ประเทศจีน

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำร่ำลือถึงสังคมไร้เงินสดของประเทศจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ที่ว่ากันว่าสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องพกเงินสดหรือเครดิตการ์ด เพราะธุรกรรมการเงินทั้งในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งออฟไลน์นั้นสามารถทำผ่านมือถือได้แทบทุกที่ โดยสองส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ออนไลน์เพย์เมนต์ประสบความสำเร็จในประเทศจีนนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบอินเทอร์เน็ตและการตอบรับของผู้ใช้งาน

จากรายงานของรัฐบาลจีนและข่าวจาก China Internet Watch กล่าวว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 731 ล้านคน เฉพาะในส่วนของแผ่นดินใหญ่ 95.1% ของทั้งหมดใช้งานมือถือ และในปี 2559 มีผู้ใช้งานออนไลน์เพย์เมนต์จำนวน 469 ล้านคน โดย 50.3% เป็นการซื้อสินค้าในร้านออฟไลน์ และจากข้อมูลในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 พบว่าออนไลน์เพย์เมนต์ในจีนนั้น ธุรกรรมกว่าครึ่งอยู่บนอี-วอลเล็ต นำโดย Alipay และ We Chat (โดย Tencent) และอีก 23% เป็นเครดิตการ์ดโดย Union Pay

เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้งานเครดิตการ์ดอย่างวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดในประเทศจีนนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับอี-วอลเล็ต อย่าง Alipay และ We Chat ทั้งนี้เป็นเพราะผู้บริโภคและร้านค้าในจีนต่างให้ความไว้ใจว่าการใช้โมบายเพย์เมนต์เป็นช่องทางที่ปลอดภัยและสะดวก ในส่วนของร้านค้าเองต่างก็เห็นประโยชน์เพราะการมีเงินสดในร้าน ดูจะไม่ค่อยปลอดภัยนัก และการรับเงินผ่านออนไลน์เพย์เมนต์ทำให้ได้เงินเข้าบัญชีและสามารถโอนเงินข้ามบัญชีได้โดยมีค่าธุรกรรมที่น้อยกว่าอีกด้วย

ประเทศไทย

กลับมาที่ประเทศไทยบ้าง ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงประชาชนในประเทศมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในเมืองไทย ทำให้เราเห็นการให้บริการอี-วอลเล็ตหลายเจ้าของทั้งส่วนธนาคารและเอกชน

จากรายงานของ Statista ในช่องทางการชำระเงินบนการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซ ธุรกรรมส่วนใหญ่ในปี 2560 อยู่บนเครดิต/เดบิตการ์ด แต่สัดส่วนของการใช้งาน อี-วอลเล็ตนั้นมีจำนวนสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2561 และคาดการณ์ว่า 42% ของมูลค่าการซื้อขายบนอี-คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกรรมผ่านอี-วอลเล็ต ในขณะที่การโอนเงินผ่านธนาคารอยู่ในระดับคงที่และการใช้ Cash on Delivery จะลดลง

โดยเฉพาะอี-วอลเล็ตมีข้อมูลจากแบงก์ชาติว่ามีผู้ให้บริการในประเทศไทยแล้วถึง 30 รายครอบคลุมหลายสินค้าและบริการ ทั้งยังมีอี-วอลเล็ตจากต่างชาติจากจีน ซึ่งสามารถชำระค่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างกูร์เมต์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตามการรับชำระเงินผ่านอี-วอลเล็ตนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ร้านค้าเจ้าใหญ่ แม้แต่ร้านค้าปลีกขนาดย่อยอย่างในตลาดนัดจตุจักร ก็มีการตั้งป้ายคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชำระเงินเช่นกัน

ด้วยจำนวนที่มากขึ้น ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตในประเทศต่างก็มีโจทย์ในการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้รับความนิยมมากที่สุด หนึ่งในกลยุทธ์คือ การสร้างพันธมิตรกันในกลุ่มธุรกิจ เพื่อขยายฐานลูกค้า เช่น แรบบิท-ไลน์-ไลน์เพย์

ไม่เพียงแค่ได้รับประโยชน์จากการรับบริการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการยังสามารถเสนอบริการด้านอื่นๆ สู่ผู้บริโภค รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อีกด้วย เช่น การเข้าร่วมของเครือโรงพยาบาลสมิติเวชกับแรบบิท ไลน์เพย์ ด้วยช่องทางไลน์ออฟฟิศเชียลแอ็กเคานต์ ของโรงพยาบาล ผู้ใช้งานสามารถได้รับข้อมูล ข่าวสาร และการบริการเมื่ออยู่ในโรงพยาบาล เป็นต้น

อีกสิ่งที่สำคัญของการรักษาแพลตฟอร์มให้ยั่งยืน คือการดูแลให้ระบบมีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในภาคเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภคเองด้วย