posttoday

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก กับโมเดลธุรกิจเฟซบุ๊ก

29 มกราคม 2562

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก อธิบายถึงหลักการที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊ก

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก อธิบายถึงหลักการที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊ก

ปีนี้เป็นปีที่เฟซบุ๊กครบรอบ 15 ปี เติบโตจากพื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาสู่การให้บริการกับผู้คนจำนวนกว่าครึ่งที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่ง มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ได้อธิบายถึงหลักการที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊ก

ตอนที่เริ่มก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซัคเกอร์เบิร์กแค่รู้ว่าสามารถค้นหาทุกสิ่งทุกอย่างได้บนอินเทอร์เน็ต ยกเว้นอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ยังไม่เจอนั่นก็คือคน จึงสร้างการบริการที่ทำให้คนสามารถใช้เพื่อเชื่อมต่อและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ หลายปีผ่านไปผู้คนหลายพันล้านคนค้นพบว่าสิ่งนี้มีประโยชน์และสร้างบริการต่างๆ เพิ่มเติมที่ผู้คนทั่วโลกใช้ทุกวัน

“ผมเชื่อว่าทุกคนควรมี ‘เสียง’และความสามารถในการเชื่อมต่อกันได้ หากเรามุ่งมั่นที่จะให้บริการของเราสามารถเข้าถึงทุกคน เราจำเป็นต้องมีบริการที่ทุกคนสามารถหามาใช้ได้ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือการนำเสนอบริการนั้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งโฆษณาจะเป็นกลไกที่สามารถเอื้อให้เราทำเช่นนั้นได้สำเร็จ” ซัคเกอร์เบิร์ก กล่าว

ขณะที่การทำโฆษณาออนไลน์ทำให้สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดและมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญว่าทำไมเฟซบุ๊กจึงนำเสนอทุกอย่างให้มีความโปร่งใสและทุกคนสามารถควบคุมเองได้ว่าต้องการจะเห็นโฆษณาชิ้นใด ทุกคนมีตัวเลือกในการจัดข้อมูลที่ใช้สำหรับการโฆษณา อีกทั้งยังสามารถบล็อกหรือป้องกันไม่ให้ผู้โฆษณาเข้าถึงได้ รวมถึงสามารถตั้งค่าเพื่อให้ได้รับเฉพาะโฆษณาที่สนใจ

ในการทำธุรกรรมทั่วไป แพลตฟอร์มนี้ทุกคนได้ใช้บริการเฟซบุ๊กโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่เฟซบุ๊กจะไปทำงานร่วมกับผู้โฆษณาเพื่อแสดงโฆษณาที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมโยงได้ รวมทั้งยืนยันว่าเฟซบุ๊กไม่เคยขายข้อมูลของผู้ใช้ โดยมองว่า การขายข้อมูลของผู้ใช้นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งและบ่อนทำลายตัวธุรกิจของเฟซบุ๊ก เพราะมันเป็นการทำลายความไว้วางใจและลดมูลค่าของการบริการที่เสนอให้กับผู้โฆษณา แรงจูงใจที่สำคัญยิ่งของเฟซบุ๊กคือ การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงได้

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดกับเฟซบุ๊ก คือ ปล่อยให้มีเนื้อหาที่อันตรายหรือสร้างความแตกแยก เพราะว่ามันทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นใช่หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ ผู้คนไม่ต้องการเห็นเนื้อหาในลักษณะนี้ ผู้โฆษณาก็ไม่ต้องการให้แบรนด์ไปเฉียดใกล้เนื้อหาเหล่านี้ สาเหตุเดียวที่ยังเห็นเนื้อหาที่ไม่ดีนี้ปรากฏอยู่เพราะผู้คนและระบบเอไอที่ใช้ในการตรวจสอบยังต้องพัฒนาและปรับปรุง

ท้ายที่สุดอีกคำถามที่สำคัญ คือ โมเดลโฆษณาแบบนี้กระตุ้นให้บริษัทแบบเราใช้และเก็บข้อมูลมากเกินกว่าที่เราควรจะทำเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคหรือไม่ ในกรณีนี้เราใช้และเก็บข้อมูลบางประเภทเพื่อที่จะได้แสดงโฆษณาที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ซึ่งเป็นวิธีการที่โฆษณาออนไลน์ส่วนมากทำกัน แต่สำหรับเฟซบุ๊กข้อมูลส่วนใหญ่ถูกเก็บเพื่อวัตถุประสงค์ในการวัดผลด้านความปลอดภัยและพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการทำให้โฆษณาเชื่อมโยงกับผู้ใช้เท่านั้น

ท้ายที่สุด ซัคเกอร์เบิร์กย้ำว่าเชื่อในหลักการที่สำคัญที่สุดเรื่องการจัดการข้อมูล คือ ความโปร่งใส โอกาสในการเลือกและการควบคุม เฟซบุ๊กจึงจำเป็นต้องปกป้องการนำระบบโฆษณาไปใช้ในทางที่ผิด มีความชัดเจนในวิธีการที่นำข้อมูลมาใช้ และทำให้ง่ายสำหรับคนทั่วไปในการควบคุมข้อมูลของพวกเขาเอง อีกทั้งมีกฎระเบียบที่รอบคอบและชัดเจนว่าบริษัทต่างๆ ควรจะต้องทำอะไร หากเป็นผู้ถือครองข้อมูลของผู้ใช้

ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดเล็กกว่า 90 ล้านธุรกิจที่อยู่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อเฟซบุ๊ก ธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีกำลังจ่ายมากพอในการซื้อโฆษณาทางโทรทัศน์หรือป้ายโฆษณาต่างๆ แต่วันนี้สามารถเข้าถึงเครื่องมือเดียวกันนี้ที่เมื่อก่อนมีแต่บริษัทใหญ่ๆ สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเฟซบุ๊กถือว่าเป็นการสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กช่วยสร้างงานและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก