posttoday

เฮลท์แคร์ไทยแกร่ง ปรับเสริมทัพรับสูงวัย

24 มกราคม 2562

ภาคอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ เร่งปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับความพร้อมของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ในงานสัมมนาเจาะลึกธุรกิจสุขภาพและโรงพยาบาลในทศวรรษใหม่ ที่จัดโดย บริษัท แบ็คยาร์ด พบว่าภาคอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ต่างตระหนัก และเร่งปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยน แปลงทั้งด้านสังคม ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับความพร้อมของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนราว 5% ของ จีดีพี และถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ที่มีโอกาสเติบโตได้ดีอีก ส่วนหนึ่งมี ปัจจัยมาจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นกว่า 16% แล้วและจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2564

ดังนั้นแนวโน้มของธุรกิจโรงพยาบาลและเฮลท์แคร์จะมาจากการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ และเทรนด์ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาใช้ในการรักษาและดูแลผู้บริโภค เช่น การตรวจประวัติคนไข้ออนไลน์ การพบแพทย์ การส่งจ่ายยาออนไลน์ 24 ชั่วโมง

กิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบ็คยาร์ด กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการปรับตัวด้วยการออกโครงการ ที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพที่ดีและความยั่งยืนออกมารองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพของ ไทยและทั่วโลก

นพ.ตุลวรรธน์ พัชราภา ผู้อำนวยการปฏิบัติการโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เฮลท์แคร์ถือเป็นปัจจัย 4 ของประชาชน โดยรัฐบาลไทยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์และพื้นฐานของคนไทยผ่านประกันสังคม กองทุนสุขภาพ แห่งชาติ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นทางเลือกที่สำคัญ

ทั้งนี้ การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจะต้องคำนึงถึงเทรนด์ ของผู้บริโภคที่จากนี้จะมีการเข้าถึง ข้อมูลและศึกษาข้อมูลก่อนพบแพทย์ ดังนั้นผู้ให้บริการต้องเตรียมความพร้อมบริการข้อมูลที่เข้าถึงง่ายให้ผู้บริโภคตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงคำนึงถึงคุณค่าของเงินที่จ่ายเพื่อต้องการความคุ้มค่าทั้งผลการรักษาและกระบวนการรักษา รวมถึงความยั่งยืนของการรักษาโรคนั้นๆ รวมถึงการเปรียบเทียบกระบวนการดูแลและบริการที่ประทับใจ กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยกระดับและปรับตัว

พร้อมกันนี้ การท่องเที่ยวเพื่อ สุขภาพจะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอาหรับและประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวีที่มีกำลังซื้อ จากเศรษฐกิจที่เติบโต และนิยมเดินทางมารับการดูแลและบริการในไทยโดยปัจจุบันมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี

ด้าน กรด โรจนเสถียร นายก สมาคมสปาไทย กล่าวว่า จุดขายที่สำคัญของธุรกิจสปาและเวลเนสคือชื่อเสียงด้านบริการ การแพทย์ สถานที่ท่องเที่ยว และความเป็นไทยที่ผู้ใช้บริการเชื่อมั่น ซึ่งภาคเอกชนต่างผลักดันและยกระดับการบริการให้มีมาตรฐานสากล เพื่อรองรับสัดส่วนผู้ใช้บริการจากทั่วโลก

เรียกว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจเฮลท์แคร์ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่จะช่วยให้ไทยก้าวสู่เมดิคัลฮับ และสร้างรายได้เข้าประเทศต่อเนื่อง