posttoday

บินไทยดันแผนจัดซื้อฝูงบิน2แสนล้านเข้าครม.

17 มกราคม 2562

ดันแผนจัดซื้อเครื่องบิน 2 แสนล้านเข้าครม. การบินไทยมั่นใจกวาดรายได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อน จับตานกแอร์เคาะเพิ่มทุน 22 ม.ค.นี้

ดันแผนจัดซื้อเครื่องบิน 2 แสนล้านเข้าครม. การบินไทยมั่นใจกวาดรายได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อน จับตานกแอร์เคาะเพิ่มทุน 22 ม.ค.นี้

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) ว่าความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียดแผนจัดซื้อฝูงบินจำนวน 38 ลำ วงเงิน 2 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอไปยังสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่ออนุมัติต่อไป โดยตามกระบวนการตั้งแต่เริ่มจัดหาเครื่องบินจนถึงการส่งมอบอย่างเร็วที่สุดจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เนื่องจากบริษัทที่ผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ทั้ง 2 ราย มีรายการสั่งผลิตเครื่องบินจำนวนมากจากสายการบินทั่วโลกจึงอาจทำให้การส่งมอบล่าช้าไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด

นายสุเมธกล่าวต่อว่าส่วนความคืบหน้าการขายเครื่องบินเก่าจำนวน 20 ลำ ปัจจุบันอนุมัติขายแล้วจำนวน 16 ลำ มูลค่าประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท โดยจะสามารถทยอยบันทึกรายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่อีก 4 ลำที่เหลืออยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมประกาศขาย อย่างไรก็ตามสำหรับแผนบริหารฝูงบินนั้นทั้งหมดจะมีการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเพื่อทดแทนเครื่องบินที่กำลังจะปลดระวางจำนวน 31 ลำ โดยแบ่งการจัดซื้อออกเป็น 2 ระยะคือระยะแรกจะมีการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 25 ลำมาทดแทนเครื่องบินเก่าปลดระวางจำนวน 19 ลำ และระยะที่ 2 ที่จะมีการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 13 ลำ มาทดแทนเครื่องบินเก่าปลดระวางจำนวน 12 ลำ คาดว่าจะสามารถเริ่มรับมอบได้ในช่วงปี 2564 ส่งให้จากปัจจุบันที่มีฝูงบินจำนวน 101 ลำเพิ่มเป็น 110 ลำ รวมถึงจะส่งผลทำให้มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารต่อกิโลเมตร(ASK) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3% ในช่วง 7-8 ปีนี้ ทำให้สามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเส้นทางการบินได้มากขึ้น และยังมีแผนเช่าเครื่องบินระหว่างรอการส่งมอบเครื่องบินใหม่อย่างน้อย 2 ลำ ในส่วนของ

นายสุเมธกล่าวอีกว่าในปี 2562 นี้การบินไทยจะเดินหน้าหารายได้เพิ่มผ่านธุรกิจสนับสนุนที่ไม่ใช่การบินมากขึ้นเช่น ครัวการบินไทย ,ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO) อู่ตะเภา และดอนเมือง เป็นต้น ด้านความร่วมมือไทยกรุ๊ปนั้นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยจะเข้าไปนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการของไทยสมายล์และจะมีการปรับนโยบายให้การดำเนินการเพื่อให้มีความเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้นและจะเข้าไปช่วยบริหารต้นทุน ขณะที่นกแอร์มีแผนที่จะเพิ่มทุนอยู่แล้ว ซึ่งต้องรอดูผลการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 ม.ค.นี้ สำหรับภาพรวมในปีนี้ก็มองว่าการแข่งขันของสายการบินยังมีความรุนแรงจากปัจจัยน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยง ซึ่งการบินไทยก็มีเส้นทางจุดหมายปลายทางที่ดีและมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ดีจึงเชื่อว่าสามารถแข่งขันได้ รวมถึงคาดการณ์ว่าปีนี้จะสามารถรักษากำไรจากการดำเนินการได้ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีรายได้ใกล้เคียงปี 2561