posttoday

อนาคตการบินไทย ในมือ 2 หัวเรือใหญ่

17 มกราคม 2562

ส่องวิถีแห่งอนาคตของการบินไทย จาก 2 หัวเรือใหญ่ "เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" ประธานกรรมการบริษัท และ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่

ส่องวิถีแห่งอนาคตของการบินไทย จาก 2 หัวเรือใหญ่ "เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" ประธานกรรมการบริษัท และ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่

************************

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

การบินไทย สายการบินแห่งชาติ มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย นับตั้งแต่ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัท และ สุเมธ ดำรงชัยธรรม มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)

หลังจากวางแผน กำหนดทิศทางเสร็จสิ้น ทั้งหมดก็กลายเป็นวิถีแห่งอนาคตของการบินไทย โดยทั้งคู่ได้ฉายภาพให้เห็นทิศทางสายการบินแห่งชาติแห่งนี้

เริ่มจาก เอกนิติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการบินไทยต้องมองเป็นระบบ ทำให้ครบวงจร ทั้งปัญหาเครื่องบินเก่า การบริการ ต้นทุน รายได้หายไป

ยุทธศาสตร์สำคัญการบินไทยจึงต้องเป็น National Premium Airline สายการบินพรีเมียมระดับประเทศ ให้รู้สึกแตกต่างจากสายการบินอื่น

สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการหาเส้นทางบินใหม่ๆ อาทิ ญี่ปุ่น ไม่ใช่มีแค่โตเกียวโอซากา แต่จะเป็นพื้นที่อื่น อาทิ เซนไดโดยกลไกที่การบินไทยมีอย่างทัวร์เอื้องหลวง Royal Orchid Holiday ต้องนำมาใช้เพื่อสนับสนุนสร้างรายได้ให้มากขึ้น

การบริการ ต้องปรับปรุงทั้งการบริการบนเครื่องบิน อาหาร โดยเฉพาะการสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับสายการบิน ที่การบินไทยมีรายได้ในส่วนนี้เพียง 2-3% แต่สายการบินบางแห่งมีถึง 20%

ที่ทำไปแล้ว อาทิ การนำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่-พัฟ แอนด์ พาย เข้าไปขายในร้านกาแฟอเมซอนของ ปตท. การเร่งหารายได้เพิ่มจากครัวการบินไทย จากธุรกิจแอร์คาร์โก้ และศูนย์ซ่อมเครื่องบิน

ขณะเดียวกันต้องเชื่อมโยงสายการบินไทยสมายล์ เข้ามาเป็นกลุ่มการบินไทย โดยขณะนี้ดีดีการบินไทยควบตำแหน่งประธานไทยสมายล์ เพื่อความร่วมมือด้านการบริหาร สร้างเครือข่ายการจองตั๋ว เส้นทางบิน และรวมถึงจะสร้างความร่วมมือกับนกแอร์ที่การบินไทยถือหุ้น

การบินไทยยังจะจับมือกับสายการบินอื่นๆ ของไทย สร้างกำลังต่อรองในการเจรจากับต่างประเทศ เพื่อเปิดเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น

ส่วนระยะกลาง จำเป็นต้องมีฝูงบินใหม่ โดยต้องพิจารณาถึงตลาดใน 10-20 ปีข้างหน้า ที่มุ่งเน้นเอเชียอย่าง อินเดีย เอเชียใต้

ทางด้าน สุเมธ ดีดีคนใหม่ กล่าวว่า การบินไทยมีเครื่องบิน 80 ลำ ไทยสมายล์ 20 ลำ แต่เครื่องการบินไทยใช้ได้ 68 ลำ อายุเฉลี่ย 12 ปี บางลำอายุ 20-25 ปี จึงควรมีฝูงบินใหม่มาทดแทน

หากพิจารณาในแง่ธุรกิจ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทลดลง 5% ขณะที่ตลาดรวมโตขึ้นปีละ 3% แสดงว่าการดำเนินธุรกิจอยู่ในภาวะถดถอย

แต่เมื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) ทำได้ 80% ราคาค่าโดยสารที่ไม่ได้หั่นลงมาแสดงว่าการบินไทยยังมีจุดแข็งด้านการตลาด

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ที่ปัญหา 3 ด้าน โดยเมื่อพิจารณางบดุลในปี 2560 ถ้าทำได้จะมีกำไรทันที

ด้านแรก การด้อยค่า ต้องมีแผนที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากถ้าเครื่องบินลำใดสร้างกำไรได้มากกว่าราคาเครื่องที่จะขาย ก็ควรใช้บินต่อไป เท่ากับว่าต้องมีระบบวัดประสิทธิภาพของเครื่องบินทุกลำ

ด้านที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยน ที่การบินไทยเกี่ยวข้องประมาณ 50 สกุล และด้านที่ 3 ราคาน้ำมัน ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) คนใหม่ จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลทั้งสองเรื่อง หลักการสำคัญต้องไม่เป็นการเก็งกำไร แต่ให้อยู่ในภาวะการค้าปกติ

ทั้งหมดคือมุมมอง 2 หัวเรือใหญ่ของการบินไทย

ที่เวลาจะพิสูจน์ผลงานให้ปรากฏ