posttoday

โฆษณาออนไลน์ไล่บี้สื่อทีวี

16 มกราคม 2562

มายด์แชร์ ชี้สินค้า บริการแห่ใช้งบผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มต่อเนื่อง ดันส่วนแบ่งใกล้ผู้นำสื่อทีวี ที่แนวโน้มลดเหลือ 50%

มายด์แชร์ ชี้สินค้า บริการแห่ใช้งบผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มต่อเนื่อง ดันส่วนแบ่งใกล้ผู้นำสื่อทีวี ที่แนวโน้มลดเหลือ 50%

น.ส.ปัทมวรรณ สถาพร กรรมการ ผู้จัดการ มายด์แชร์ เอเยนซีเครือข่ายด้านการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปรับข้อมูลข่าวสาร และรับชมรายการบันเทิงผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมสื่อโฆษณาอินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว คาดการณ์ว่าในระยะเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปีนับจากนี้ สัดส่วนสื่อโฆษณาอินเทอร์เน็ตน่าจะอยู่ที่ 40% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 12.6% จากมูลค่าสื่อโฆษณารวมปีละ 118,480 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 14,942 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของเม็ดเงินที่เหลือประมาณ 50% ยังคงเป็นของสื่อทีวี เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังคงดูทีวี ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10% จะเป็นสัดส่วนของสื่อนอกบ้าน สื่อโรงหนัง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ

สำหรับภาพรวมสื่อโฆษณาอินเทอร์เน็ตในปี 2562 นี้ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) หรือ DAAT ออกมาคาดการณ์ว่าภาพรวมสื่อโฆษณาอินเทอร์เน็ตน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 14.5% ของมูลค่าเม็ดเงินโฆษณารวมในสิ้นปี 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 124,205 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ประมาณ 4.8% จากมูลค่า 118,480 ล้านบาท

ในส่วนของสื่อหลักที่ยังคงสร้าง เม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2562 ยังคงเป็นสื่อทีวี คิดเป็นสัดส่วน 58.7% หรือมีมูลค่า 72,950 ล้านบาท ตามด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นสัดส่วน 14.5% หรือมีมูลค่าที่ 1.8 หมื่นล้านบาท สื่อนอกบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 11.9% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 14,935 ล้านบาท สื่อโรงหนัง คิดเป็นสัดส่วน 5.9% หรือมีมูลค่าที่ 7,320 ล้านบาท สื่อสิ่งพิมพ์ คิดเป็นสัดส่วน 5% หรือมีมูลค่า 6,200 ล้านบาท และสื่อวิทยุ คิดเป็นสัดส่วน 3.9% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท

"บริษัทที่คาดว่าจะมีการใช้งบโฆษณามากที่สุดจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอันดับ 1 เป็นของยูนิลีเวอร์ ตามด้วย กลุ่มธุรกิจไลฟ์สตาร์ของบริษัท อาร์เอส พีแอนด์จี ทีวีไดเร็ค และโตโยต้า" น.ส. ปัทมวรรณ กล่าว

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมอุตสาห กรรมโฆษณาขยายตัวเติบโตต่อเนื่องจากปี 2561 เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่ม ปรับตัวดีขึ้น และปีนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น น่าจะทำให้หลายธุรกิจมีความคึกคัก ซึ่งสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงยังคงเป็นสื่อทีวี และจากการที่ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องหันมาพัฒนาคอนเทนต์ให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้คนยังดูทีวีโดยเฉพาะช่องทีวีดิจิทัลใหม่ๆ เห็นได้จาก เรตติ้งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องเวิร์คพอยท์ และโมโน 29

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้จะมีการขยายตัวที่ดี แต่ ในส่วนของนักการตลาดเองก็ต้องจับตา เทรนด์ของสื่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งเทรนด์ที่คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2562 คือ 1.Streaming Content การเติบโตของวิดีโอและคอนเทนต์ แพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านเดสก์ท็อปหรือ มือถือ ทำให้มีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น โดย เฉพาะการเข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียลที่เสพสตรีมมิ่งคอนเทนต์แทนการดูทีวี

แนวโน้มที่ 2 The "Social" Network เครือข่ายสังคมออนไลน์เข้าสู่การเป็นแมสมีเดียอีกแบบที่เทียบเท่ากับสื่อมีเดียที่คุ้นเคย ดังนั้นความท้าทาย คือ การหาจุดลงตัวของการใช้สื่อนี้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 3.Shoppable Media การทำให้มีเดียเป็นได้มากกว่าสื่อและทำงานครบวงจรจากการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถปิดการขายได้บนสื่อนั้นด้วย

น.ส.ปัทมวรรณ กล่าวว่า แนวโน้มที่ 4 New Tech Reality Check กระแสเทคโนโลยีกับความเป็นจริง สำหรับผู้บริโภค AR/VR เป็นเทคโนโลยีที่แพงเกินไป นักการตลาดจึงไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยีใกล้ตัว เช่น Smart Home หรือ Smart Personal Device หรือแม้กระทั่งการลงทุนในเทคโนโลยีใกล้ตัว เช่น AI และ Voice รวมทั้ง 5.Appealingto ad avoiders การหลีกเลี่ยงโฆษณา และการใช้เทคโนโลยีในการปิดรับโฆษณาโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เปิดโอกาสให้นักการตลาดหาวิธีสร้างสรรค์คอนเทนต์หรือช่องทางที่จะดึงความสนใจของผู้บริโภค