posttoday

"ความเหลื่อมล้ำ" ปัญหาที่ทุกรัฐบาลต้องแก้

01 มกราคม 2562

ไม่ว่าจะเป็นใครจะเข้ามาบริหารประเทศ คนไทยต้องช่วยกันส่งเสียงว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ล้วนเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและแก้ไข

ไม่ว่าจะเป็นใครจะเข้ามาบริหารประเทศ คนไทยต้องช่วยกันส่งเสียงว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ล้วนเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและแก้ไข

*********************************

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

ข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2560ระบุว่าประเทศในเอเชียตะวันออกประสบความสำเร็จมากกว่าทุกภูมิภาคทั่วโลกในการพัฒนาเศรษฐกิจและนำพาประชากรในประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ โดยไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเจริญรุ่งเรือง หรือ Progressive Prosperity คือ สามารถขจัดความยากจนในเชิงรายได้ (Income Poverty) ลงได้ และสัดส่วนครัวเรือนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในเอเชียตะวันออกมีสองประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือ ไทยและมาเลเซีย

ทั้งนี้ แม้จะสามารถผลักดันให้ประชากรออกจากความยากจนได้ แต่ธนาคารโลกได้ชี้ให้เห็นว่าทุกประเทศได้ประสบปัญหาเดียวกันนั่นคือความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไปว่าความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นปกติในระบอบเศรษฐกิจเสรี ที่ผู้มีกำลังมากกว่าย่อมมีโอกาสในการสะสมความมั่งคั่งในอัตราที่รวดเร็วกว่า หรือนโยบายการกระจายความมั่งคั่งไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ยังไม่ดีพอ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้เกิดแต่ในไทย แต่เป็นปัญหาของทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ที่ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า พบว่าระดับรายได้ของประชาชนที่รายได้สูงสุด 10% มีรายได้มากกว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% อยู่ 17.7 เท่า ในสหรัฐ 18.5 เท่า นิวซีแลนด์ 12.5 เท่า ฝรั่งเศส 9.1 เท่า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทยอย่างมาเลเซียก็เหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ 22 เท่า

ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดตามการวัดขององค์การสหประชาชาติ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนที่มีรายได้สูงที่สุด 10% แรก มีรายได้สูงกว่าประชาชน 10% ที่รายได้น้อยสุดอยู่ 4.5 เท่า ส่วนประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คือ นามิเบีย 106.6 เท่า แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้รับการจัดเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามความพร้อมของแต่ละประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยเองหากวัดจากระดับรายได้ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ พบว่ามีความเหลื่อมล้ำระดับปานกลาง โดย ณ ปี 2558 นั้นมีกลุ่มประชาชนที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้สูงกว่าผู้มีรายได้ต่ำสุดอยู่ 15.96 เท่า และลดลงมาอยู่ที่ 8.18 เท่าในปี 2559

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในการจัดเก็บข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศ ยังมีการรวบรวมข้อมูลในด้านอื่น แต่ไม่ว่าจะวัดในแง่มุมใดก็พบว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศและทุกแห่งก็ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่ตามมา โดยเฉพาะความขัดแย้งทางสังคมดังที่เกิดกับไทยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

"ความเหลื่อมล้ำ" ปัญหาที่ทุกรัฐบาลต้องแก้

หลายรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงรัฐบาลภายใต้การนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศได้ 4 ปีเศษแล้ว ล่าสุดได้มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จะให้วงเงินในบัตรที่ผู้ถือสามารถนำไปซื้อสินค้าจำเป็นในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ รวมถึงใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ โดยมีผู้ถือบัตรรวม 14.7 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการของรัฐอื่นๆ โดยจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ามีอยู่มากกว่า 40 โครงการ เป็นวงเงินงบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสำหรับวัยเด็กและครอบครัว 7 สวัสดิการ วัยเรียนและการศึกษา 4 สวัสดิการ วัยแรงงานและการงานอาชีพ 8 สวัสดิการ สุขภาพ 5 สวัสดิการ ผู้พิการ 4 สวัสดิการ ผู้สูงอายุ 7 สวัสดิการ และการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเยียวยา 12 สวัสดิการ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นวงเงินงบประมาณหมุนเวียนสำหรับโครงการสวัสดิการกว่า 40 โครงการ ดังกล่าวเป็นวงเงินค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท วงเงินที่ใช้ดูแลสวัสดิการก็อยู่สูงเกือบ 17%ซึ่งสูงกว่าวงเงินลงทุนในบางปีงบประมาณด้วยซ้ำไป แต่ก็ดูเหมือนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ล่าสุดรัฐบาลจึงได้จัดตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจน ที่จะเป็นหน่วยงานกลางสำหรับการบูรณาการด้านการลดความยากจน และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับนโยบายอยู่ 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กนล.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่อำนาจกำหนดกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติและทุกระดับ อีกชุดคือคณะกรรมการบริหารการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน (กบล.)มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจกำหนดกรอบตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ

การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ บูรณาการลดความเหลื่อมล้ำขึ้นภายใต้การดูแลของ สศช.นี้ เป็นแนวทางที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว เพื่อการทำงานในเรื่องการลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของทุกหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากที่ผ่านมาต่างคนต่างทำและบางโครงการก็เกิดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ

แต่พอส่วนงานสำคัญกำลังตั้งไข่ได้อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง ที่ยังไม่แน่นอนว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร เข้ามาแล้วจะให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจริงจังหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครหรือพรรคไหนเข้ามาบริหารประเทศ คนไทยก็ต้องช่วยกันส่งเสียงว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ ทรัพย์สิน การศึกษา ความยุติธรรม การสาธารณสุข ล้วนเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและแก้ไข