posttoday

นิด้าชี้ศก.ปีหน้าโต4%

25 ธันวาคม 2561

นิด้าประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัว 3.7-4% จากแรงผลักดัน จากการลงทุนภาครัฐ ความชัดเจนทางการเมืองช่วยหนุนความคึกคัก

นิด้าประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัว 3.7-4% จากแรงผลักดัน จากการลงทุนภาครัฐ ความชัดเจนทางการเมืองช่วยหนุนความคึกคัก

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับ นักบริหารระดับสูง (วบส.) ของนิด้า เปิดเผยว่า นิด้าประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัว 3.7-4% โดยการเติบโตจะมาจากกลไกการขับเคลื่อนจากภาครัฐผ่านมาตรการและนโยบายเพื่อการ กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายโครงการได้รับอนุมัติและสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า งบลงทุนกว่า 4.5 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่อีอีซี และรถไฟทางคู่สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีบทบาทของรัฐอาจชะลอตัวจากภาวะการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ความชัดเจนทางการเมืองจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างความน่าสนใจ รวมถึงดึงดูดความ เชื่อมั่นจากนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 4 แสนล้านบาท

สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนอาจดีขึ้นได้ช่วงไตรมาสแรกของปี จากเงินเลือกตั้งกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจซบเซา เพราะอิทธิพลของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งจัดการแก้ไขเรื่องนี้ ไปพร้อมกับการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านภาคการลงทุนปี 2562 คาดว่าต้องรอถึงช่วงครึ่งปีหลัง เพราะบรรยากาศในการลงทุนและความเชื่อมั่นน่าจะเกิดขึ้นได้จากความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

สำหรับภาคการส่งออกภาวะการค้าโลกกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนแต่คาดว่าจะเจรจากันได้   และภาวะทางการค้าโลกจะกลับมาสดใสในไม่ช้า ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2562 จะเติบโตได้ประมาณ 6% ลดลงจากปีนี้เล็กน้อย

ขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2-2.25% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมของปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.3% ทรงตัว โดยแรงขับเศรษฐกิจยังคงเป็นการลงทุนภาครัฐและการส่งผ่านนโยบายประชานิยม  ในขณะที่กำลังซื้อของภาคการบริโภคชะลอตัว หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 77.5% ต่อจีพีดี ไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบที่คาดว่าขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ด้านการลงทุนเอกชนยังคงชะลอตัวโดยมีดัชนีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 68% ส่วนการลงทุนโดยตรงและการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ (BOI) ยังรอความชัดเจนทางการเมืองด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ 8%

ภาพประกอบข่าว