posttoday

ผลสำรวจชี้ผู้นำธุรกิจครอบครัวยุคบุกเบิกสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่ารุ่นหลัง

04 ธันวาคม 2561

ผลสำรวจของ PwC ชี้ผู้นำธุรกิจครอบครัวยุคบุกเบิกสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่ารุ่นหลัง ขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน

ผลสำรวจของ PwC ชี้ผู้นำธุรกิจครอบครัวยุคบุกเบิกสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่ารุ่นหลัง ขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน

นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Family Business Survey 2018 ที่ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัวจำนวน 2,953 บริษัท ใน 53 ประเทศทั่วโลก พบว่า รายได้ของธุรกิจครอบครัวในปีที่ผ่านมาเติบโตเป็นเลข 2 หลัก ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี2550 โดย 84% ของผู้บริหารคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ 16% ยังมองด้วยว่ารายได้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด

ผลสำรวจพบว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นแรกมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ให้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมากกว่าผู้นำรุ่นอื่นๆ อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความต่อเนื่องของรูปแบบทางธุรกิจกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ขณะที่ ผู้นำรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก

เมื่อแบ่งเป็นรายทวีปพบว่า ธุรกิจครอบครัวในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกา แสดงความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้มากที่สุด และ 28% คาดว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามด้วยธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก 24% ยุโรปตะวันออก 17% อเมริกาเหนือ 16% อเมริกากลางและใต้ 12% และยุโรปตะวันตก 11%

ผลสำรวจ ยังพบด้วยว่า 75% ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเชื่อว่า การมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว โดย 49% ของผู้บริหารได้มีการกำหนดคุณค่าองค์กรโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 53% ของธุรกิจครอบครัวที่มีรายได้เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก สามารถระบุหมวดหมู่คุณค่าองค์กรได้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการผสมผสานกลยุทธ์ความเป็นเจ้าของกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจครอบครัวเข้าด้วยกัน

สำหรับความท้าทาย 3 อันดับแรกของธุรกิจครอบครัวในอนาคตนั้น ประกอบด้วย นวัตกรรม 66% การเข้าถึงแหล่งแรงงานที่มีทักษะ 60% และการเข้าสู่ดิจิทัล 44% โดย 80% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวมองว่าปัจจัยเหล่านี้ คือความท้าทายที่มีนัยสำคัญ

ผลสำรวจระบุอีกว่า ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมากกว่า 80% ของธุรกิจไทยนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หรืออย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองที่ 3 ใน 4 เป็นธุรกิจครอบครัว

สถานการณ์ที่ผ่านมาของธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 2 และบางครอบครัวเริ่มส่งต่อกิจการให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้ ก็เผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตคล้ายคลึงกับผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ และ ช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 รุ่นจำเป็นต้องเปิดใจและมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ธรรมนูญครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวไทย เพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งช่วยลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อไปที่เข้ามาสืบทอดกิจการ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวจะมีได้ ต้องเกิดจากคุณค่าภายในครอบครัว และคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว และต้องมีจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวด้วย

"ปัจจุบันผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยในหลายองค์กรเริ่มมีการบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะนำพาองค์กรสู่การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ และผลที่ตามมาทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆได้อีกมาก แต่ก็ยังต้องมีความตื่นตัวในการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจครอบครัวยุคใหม่"นายนิพันธ์ กล่าว

สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยในปัจจุบันถือว่ามีจำนวนที่มาก โดยที่มีจำนวนธุรกิจครอบครัวที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาท/ปี ขึ้นไป จำนวน 25,000 ราย ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่เป็นธุรกิจใหญ่มีรายได้ตั้งแต่ 2.5-3 หมื่นล้านบาท/ปี ขึ้นไป ทั้งหมดกว่า 2,000 ราย (รวมธุรกิจข้ามชาติ) ซึ่งนับเป็นเฉพาะธุรกิจครอบครัวของไทยทั้งหมด 1,000 ราย ซึ่งมีธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมกว่า 100 บริษัท จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมดกว่า 700 บริษัท และยังมีลูกค้าของ PWC ที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 พันล้านบาท/ปี ขึ้นไป อยู่ระหว่างจัดทำระบบบัญชี ระบบภาษี ระบบการควบคุมมาตรฐานและธรรมาภิบาล เพื่อเตรียมตัวจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกราว 40 ราย