posttoday

ไขความลับ เซลล์ชรากับโรคมะเร็ง (2)

27 ตุลาคม 2561

เรื่อง ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมธีวิจัย สกว.

เรื่อง ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมธีวิจัย สกว.


งานวิจัย “บทบาทของไซคลิน ดี 1 และเครือข่ายโปรตีนก่อมะเร็งของไซคลิน ดี 1 ในการก่อมะเร็งและการรักษาแบบมุ่งเป้า” ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อนักวิจัยเอาไซคลิน ดี1 ออกจากเซลล์มะเร็ง มะเร็งจะเริ่มสะสมความเครียดและเปลี่ยนไปทันที มีสภาพที่แย่และไม่สามารถเอาตัวรอดได้ รูปร่างหน้าตาคล้ายเซลล์ที่เข้าสู่ภาวะชราเป็นอย่างยิ่ง

จากการสังเกตนี้เรายืนยันได้ว่าเซลล์มะเร็งที่ไม่มีไซคลิน ดี1 นี้ เข้าสู่ภาวะเซลล์ชราจริง และเกิดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ความเครียดนี้เกิดจากการหายใจและ
ผลิตพลังงานของเซลล์มะเร็ง และสะสมปริมาณออกซิเจนภายในจนเกินไป รวมถึง
สะสมจำนวนไมโตครอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเครียดจากออกซิเจนอย่างรวดเร็ว ในเซลล์หนึ่งๆ มีมากกว่าเซลล์ปกติที่ใช้เทียบถึง 10-20 เท่า จุดนี้เองที่กลไกเซลล์ชราถูกกระตุ้น

อุปสรรคใหญ่ของงานวิจัยนี้กลับไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เกิดจากความเชื่อของคน !!!

งานนี้จึงเป็นความท้าทายของทีมวิจัยว่าจะทำอย่างไรให้คนเชื่อเราว่าไซคลิน ดี 1 ก่อมะเร็งโดยลดความเครียด และป้องกันการเข้าสู่ภาวะเซลล์ชราให้กับเซลล์มะเร็ง ไม่ใช่กระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวตามที่ทุกคนคิดกัน เพื่อที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงกลไกใหม่นี้ ทีมวิจัยจึงได้ทำการทดลองในเซลล์มากกว่า 10 ชนิด และยืนยันมากกว่า 40 ครั้งในหลายๆ ภาวะ ซึ่งผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่าง Journal of Cell Sciences ด้วย

ทีมวิจัยใช้เซลล์ที่ไม่มีการแสดงออกของโปรตีนชื่อ “เรติโนบราสโตมาโปรตีน” เป็นโมเดลในหลายการทดลอง เนื่องจากเซลล์ที่ปราศจากโปรตีนดังกล่าวจะไม่ใช้ไซคลิน ดี 1 ในการแบ่งตัว โมเดลนี้จึงใช้ทดสอบหน้าที่ใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในกระบวนการแบ่งตัวของไซคลิน ดี1 ได้เป็นอย่างดี โดยทุกอย่างกระจ่างเมื่อทีมวิจัยเอาไซคลิน ดี 1 ออกจากเซลล์ที่ปราศจากเรติโนบราสโตมาโปรตีน และพบว่าสามารถที่จะหยุดมะเร็งอย่างชะงัดและทำให้มะเร็งเข้าสู่ภาวะเซลล์ชราได้อย่างดี

ความรู้ใหม่จากงานวิจัยนี้นับเป็นการเปิดเผยความลับเรื่องราวของสมดุลออกซิเจน และกลไกควบคุมที่เกี่ยวข้องในเซลล์มะเร็ง จึงเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้เป็นจุดอ่อนในการรักษาโรคร้ายชนิดนี้ โดยการรบกวนสมดุลของออกซิเจนในเซลล์มะเร็ง ด้วยการใช้ไซคลิน ดี 1 เป็นเป้าหมายการรักษาของยาใหม่ๆ ได้

ปัจจุบันมีบริษัทยาหลายแห่งได้แสดงความสนใจแนวคิดนี้ และเราได้ขยายโครงการออกไปโดยการศึกษาความเป็นได้ในการยับยั้งโปรตีนนี้ หรือโปรตีนในเครือข่ายนี้ที่ทำงานด้วยกันในมะเร็งของคนไทย เช่น มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์ที่สุด