posttoday

เปิดใจ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" ภารกิจพลิกฟื้นการบินไทย

23 กันยายน 2561

เปิดใจ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย คนล่าสุดกับภารกิจการพลิกฟื้นกิจการของสายการบินแห่งชาติ

เปิดใจ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย คนล่าสุดกับภารกิจการพลิกฟื้นกิจการของสายการบินแห่งชาติ

***************************

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตท่ามกลางการแข่งขันสูงของอุตสาหกรรมการบินโลก จากสายการบินแห่งชาติที่เคยเฟื่องฟูในรอบหลายสิบปี มาวันนี้การบินไทยมีหนี้สะสมกว่า 2 แสนล้านบาท และต้องฟื้นฟูกิจการอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลจึงต้องส่งคีย์แมนคนสำคัญอย่าง “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” บุคคลสำคัญที่รองนายกรัฐมนตรีเชื่อมือเหลือเกินว่าจะใช้พลังของคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพลิกโฉมการบินไทยไปสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน

สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย กล่าวในการเปิดตัวพร้อมพันธมิตรรัฐวิสาหกิจชั้นนำของไทย เพื่อผลักดันการบินไทยสู่การเป็นเนชั่นแนล พรีเมียม แอร์ไลน์ส ว่า ก่อนจะกำไรต้องลดต้นทุน เป็นเรื่องที่การบินไทยพูดกันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่คงไม่มีทางทำได้ ถ้าไม่ปฏิรูปธุรกิจเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

“สาเหตุหลักของการขาดทุนการบินไทยมีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ ภาระต้นทุนพลังงานและค่าซ่อมบำรุง การใช้เครื่องบินไม่เหมาะสม และเส้นทางบินที่ไร้ประสิทธิภาพ เรื่องเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่ฝ่ายจัดการต้องเข้ามาดู เพราะทุกวันนี้การแข่งขันด้อยลง แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องทบทวนแผนการลงทุนจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำวงเงิน 1 แสนล้านบาท ว่าตัวเลขดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ และสอดคล้องกับการ Re-Route เส้นทางการบินมากน้อยแค่ไหน” สุเมธ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การเข้ามารับตำแหน่งดีดีการบินไทย สุเมธได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 การบินไทยจะต้องหยุดขาดทุนให้ได้ จากนั้นในปี 2565 จะต้องล้างขาดทุนสะสม และพยายามพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจการบินของเอเชียด้านการขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ขนส่งสินค้าภายในปี 2570 สอดคล้องกับผลงานมาสเตอร์พีซเดิมที่เคยทำไว้สมัยอยู่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี สามารถพลิกฟื้นสถานะของ ธพส.จากขาดทุนให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง

ชูยุทธศาสตร์ 5 ด้านขับเคลื่อน

สำหรับแผนการทำงานของสุเมธในการพลิกฟื้นการบินไทย ได้ชูยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ขับเคลื่อนภารกิจไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ 1.การสร้างรายได้ยั่งยืน อาทิ การต่อยอดตลาดใหม่ ปรับเส้นทางการบินและสร้างพันธมิตรร่วมเพิ่มขึ้น 2.ภาพลักษณ์องค์กร 3.ประสบการณ์ผู้โดยสาร 4.ดิจิทัลเทคโนโลยี 5.บริหารทรัพยากรบุคคล

“ผมต้องการให้การบินไทยเพิ่มมาตรฐานงานบริการ โดยเฉพาะการยิ้มที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ประจำองค์กร นอกจากนี้ยังต้องสร้างมาตรฐาน Beyond Expectation หรือการให้มากกว่าที่ลูกค้าขอ ทุกวันนี้การบินไทยต้องออกมาจาก Comfort Zone เพราะตลาดแข่งขันรุนแรง ถ้าบริหารต้นทุนไม่ได้อย่างไรก็ขาดทุน เราอยู่ที่เดิมไม่ได้ต้องเพิ่มเครื่องบินในฟลีต เพื่อช่วงชิงตลาด ซึ่งพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น สัดส่วนตลาดลดลงถึง 10% จากเดิมครองอยู่ 37% หากยังไม่มีการซื้อเครื่องบินเพิ่ม จะทำให้ส่วนแบ่งของสายการบินแห่งชาติลดลงเหลือ 10% และหายไปในที่สุด” สุเมธ อธิบาย

เปิดใจ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" ภารกิจพลิกฟื้นการบินไทย

พลิกวิกฤตสู่โอกาส

ไทยเป็นเพียงประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่ดีมานด์วิ่งเข้ามา โดยไม่ต้องทำการตลาด ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขดังกล่าวยังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินขีดความสามารถของสนามบิน ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. มีแผนจะพัฒนาสนามบินให้รองรับผู้โดยสารได้ 100-120 ล้านคน/ปี ดังนั้นการบินไทยจึงปล่อยเค้กก้อนใหญ่ชิ้นนี้ไปไม่ได้ ดังนั้นหลังจากนี้การบินไทยจะเร่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Business) ให้มีสัดส่วน 15-20% จากปัจจุบัน 10% ควบคู่ไปกับรายได้เสริมให้มีสัดส่วน 5-20% จากปัจจุบัน 2.2% โดยมีแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจครัวการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยาน

สุเมธ กล่าวว่า ส่วนธุรกิจทางการบินนั้น จะต้องเพิ่มปริมาณบรรทุกผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 80% ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การต่อยอดตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้องค์กรนั้น จะเริ่มจากการขยายตลาดครัวการบินไทย เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เดินทางออกไปกับผู้โดยสารเกือบทุกคน ปัจจุบันครัวการบินไทยมีรายได้ปีละ 8,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อน 5% หรืออยู่ที่ราว 8,600 ล้านบาท และมีแผนลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 300% เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดการบินในภูมิภาค จากเดิมมีกำลังผลิตราว 1,000 ชุด/วัน เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000-4,000 ชุด/วัน

นอกจากนี้ สุเมธยังได้ตั้งเป้าให้การบินไทยเป็นสายการบินชั้นนำ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2565 และจะเป็นสายการบินระดับพรีเมียม (International Premium Airlines) โดยการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ไม่ยากแต่มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย โดยเฉพาะการพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง เพื่อนำรายได้ไปต่อยอดความเป็นพรีเมียมของสายการบินแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตั้ง “ทีมไทยแลนด์” ประกอบด้วย การบินไทย ทอท. ธนาคารกรุงไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะร่วมกันจับมือพลิกโฉมอนาคตธุรกิจการบินแห่งชาติให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

“หลังจากนี้จะใช้แท็กติกบิ๊กดาต้า เอาข้อมูลของการบินไทย ธนาคารกรุงไทย และท่าอากาศยานไทย มาเทรวมกันบนแพลตฟอร์มเดียว เพื่อหยิบข้อมูลไปใช้ทำการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ชอบกินอะไร หรือมักซื้อสินค้าและบริการใดภายในสนามบิน เป็นต้น โดยผมให้ความสำคัญกับนวัตกรรมยุคใหม่อย่างมาก ที่ผ่านมาสามารถใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร 2 เท่า ในขณะที่มีปริมาณพนักงานเท่าเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกและการบินไทยได้อย่างแน่นอน เพราะธุรกิจสายการบินเข้าสู่ยุค Disruptive ที่จะต้องเน้นพัฒนาการตลาดดิจิทัล” สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย

เปิดใจ "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" ภารกิจพลิกฟื้นการบินไทย

ปั้น MRO ชิงเค้ก 8 แสนล้าน

นอกเหนือจากการพลิกฟื้นในด้านแผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นทุกปี รวมถึงการปรับเส้นทางการบินให้สอดคล้องความต้องการเดินทางของผู้โดยสารแล้วศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ถือเป็นอีกหนึ่งแผนธุรกิจที่ สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรในส่วนนี้

สุเมธ ระบุว่า ศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือ MRO ถือเป็นอนาคตใหม่ของบริษัท การบินไทย หลังจากนี้องค์กรจะเร่งเดินหน้าลงทุนพัฒนา MRO เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพัฒนา MRO รองรับเครื่องบินรุ่น 700 บริเวณสนามบินดอนเมือง ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลกที่มีความพร้อมด้านงานซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยมาพร้อมกับเมืองการบินขนาดใหญ่ในพื้นที่อู่ตะเภา คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของการบินภูมิภาคตามความฝันของรัฐบาล

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พบว่า มูลค่าตลาดซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยในระยะ 20 ปีนั้น จะมีมูลค่าทั้งหมด 8.05 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4.02 หมื่นล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโต 5.7-9% ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.75 หมื่นล้านบาท ด้วยอัตราเติบโต 3.7-5.2% ต่อปี และในรอบ 20 ปี คาดว่าปริมาณเครื่องบินของสายการบินในประเทศจะมี 811 ลำ จากปัจจุบัน 314 ลำ โดยสายการบินที่มีดีมานด์สูงสุดจะเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์อย่างไทยแอร์เอเชีย ที่มีแผนจะเพิ่มฟลีตเครื่องบินอีก 216 ลำ รวมเป็น 272 ลำ ในปี 2037 คิดเป็นสัดส่วน 33% ของเครื่องบินทั้งหมด รองลงมาคือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีแผนจะเพิ่มอีก 60 ลำ เป็น 97 ลำ คิดเป็นสัดส่วน 7.3% สอดรับกับแนวโน้มตลาดการบินต้นทุนต่ำที่จะเติบโตขึ้นทุกปี

สำหรับประวัติของ สุเมธ ดีดีการบินไทยคนล่าสุด เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 หลังจากการบินไทยใช้เวลาสรรหาดีดีคนใหม่แทน จรัมพร โชติกเสถียร นานเกือบ 2 ปี

สุเมธเป็นหลานชายของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (อากู๋) ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าร่วมงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) ของแกรมมี่ จากก่อนหน้านี้ทำงานที่ บริษัท ทุนธนชาต ร่วม 10 ปี

สุเมธเข้าไปช่วยฟื้นฟูบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว เจ้าของช่อง Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงที่แกรมมี่เข้าไปถือหุ้น ก่อนลาออกจากแกรมมี่ กรุ๊ป ไปแสวงหาเส้นทางของตัวเองอีกครั้งที่บริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.)

การเข้ารับตำแหน่งดีดีการบินไทยของสุเมธ ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายฝีมืออย่างมากในการพลิกองค์กรให้กลับมามีกำไร