posttoday

'โซเชียล คอมเมิร์ซ' พลิกโฉมค้าปลีกออนไลน์

11 สิงหาคม 2561

การขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย หรือ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” กำลังจะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่าเพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรง

โดย...กุลจิรา นารอง

ในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างใช้เวลาบนโลกสังคมออนไลน์ (โซเชียล มีเดีย) มากขึ้น เพื่อแบ่งปันเรื่องราวหรือประสบการณ์ต่างๆ จึงไม่แปลกใจที่บางโพสต์ หรือบางคอมเมนต์ ทั้งบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า

การขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย หรือ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” จึงกำลังจะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่าเพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยการโฆษณาหรือขายสินค้าผ่านตัวกลางอย่างเว็บอี-คอมเมิร์ซต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า หรืออีเบย์ นอกจากนี้ ผู้ขายยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้เว็บดังกล่าวด้วย

กระแสโซเชียล คอมเมิร์ซที่มาแรงยิ่งขึ้นนั้น สะท้อนออกมาจากรายงานของบริษัทวิจัย การ์ทเนอร์ ชื่อ “แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์ 2018” ที่ระบุว่ามีแบรนด์ต่างๆ ประมาณ 66% จาก 424 แบรนด์ ได้นำรูปแบบการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียมาใช้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค ขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการขาย และจัดหาบริการให้แก่ลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

“ผู้ซื้อสนใจว่าใครเป็นผู้ขาย และสนใจว่ากำลังติดต่อกับใครผ่านสังคมออนไลน์มากกว่า เพราะจะช่วยขจัดปัญหาในการคืนเงินหรือสินค้าต่างๆ” อู่เฉวียงเฉวียง ผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ Haoyiku ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อ-ขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น กล่าว 

จากรายงานยังระบุว่า สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ได้เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับการซื้อขายของออนไลน์ โดยแบรนด์ 41% เลือกใช้ระบบการซื้อขายผ่านอินสตาแกรม ขณะที่อีก 17% เลือกขายสินค้าผ่านแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ ไนกี้ บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดัง นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย โดยสามารถขายรองเท้าหมดได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ด้วยการทดลองขายผ่านช่องทางการสนทนาที่ใช้ AR ในการประมวลผล


แนวโน้มในอาเซียนมาแรง

รายงานของ ฮุต-สูท (Hoot-Suite) และวีอาร์โซเชียล (We Are Social) ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในปี 2017 ระบุว่าประชากรประมาณ 47% ในอาเซียน (ราว 306 ล้านคน) มีบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้งานอยู่ และ 42% ของประชากร (ราว 273 ล้านคน) สามารถเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยการที่ประชากรรุ่นใหม่ในอาเซียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียขยายตัวมากขึ้นตามไปด้วย

รายงานยังระบุว่า 7 ประเทศในอาเซียน ประกอบไปด้วย บรูไน  สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีอัตราการเข้าถึงสังคมออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้สังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 20% ระหว่างเดือน ม.ค. 2016-ม.ค. 2018

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ ไพ้รซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชี 4 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า ไทยเป็นตลาดซื้อขายของผ่านโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย 51% ของผู้ซื้อของออนไลน์ ซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ผู้ซื้อของออนไลน์ทุกๆ 3 คนจะซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ รายงานของ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ปี 2016 การทำธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดียคิดเป็น 30% ของการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดไป แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจผ่านสังคมออนไลน์จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตลาดอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้


เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

เอดีบีระบุว่า ในการพัฒนาโซเชียล คอมเมิร์ซต่อในอนาคตนั้น หลายประเทศอาเซียนจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการจ่ายเงินออนไลน์และระบบโลจิสติกส์ รวมถึงต้องวางกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นรับ-ส่งข้อความก็มีความสำคัญ เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรง และติดต่อกันแบบส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้

อย่างไรก็ดี อาเซียนยังต้องแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เช่น การเจาะระบบขโมยข้อมูลบัตรเครดิตและบัตรเดบิต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดีย

ถึงแม้ในปัจจุบันรูปแบบการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดียจะจำกัดอยู่แต่ภายในประเทศ แต่โซเชียล คอมเมิร์ซคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการค้าขายข้ามพรมแดนได้ในอนาคต