posttoday

"คนยุคมิลเลนเนียล" กำลังซื้อหลักอี-คอมเมิร์ซไทย

31 มกราคม 2560

ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มมิลเลนเนียลกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด

โดย...ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ECOMMERCE COACH คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมอีเมิร์ซ

หลายครั้งที่เรามักได้ยินคำว่า “คนยุคมิลเลนเนียล” ในบริบทต่างๆ ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้เข้ามามีบทบาทกับสังคมมากขึ้นรวมถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไปด้วย ในบทความนี้ผมจึงขอเจาะไปในกลุ่มมิลเลนเนียลว่าคือใคร พฤติกรรมการช็อปปิ้งเป็นอย่างไร แล้วในเชิงผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเองจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร

จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วนะครับ ในชื่อเรียกที่ว่า Generation Y หรือเจนวาย คือผู้ที่เกิดในช่วงปี 1980 ไปจนถึงช่วงกลางของยุค 90 หรือจนถึงต้นปี 2000 สำหรับตัวผมเองคนยุคมิลเลนเนียลน่าจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 18-34 ปีเป็นกลุ่มคนที่เติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ (Millennium) นั่นเอง

จากรายงานของ Millennial Week พบว่า คนกลุ่มมิลเลนเนียลนั้นมีจำนวนมากที่สุดถึง 1,800 ล้านคน จากประชากรทั่วโลกซึ่งมีจำนวน 7,000 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีประชากรกลุ่มมิลเลนเนียลกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันคนยุคมิลเลนเนียลโตเป็นผู้ใหญ่ บ้างก็มีครอบครัว มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น หากมองในแง่ของจำนวนประชากรในกลุ่มนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า คนยุคมิลเลนเนียลนั้นจะมีบทบาทสำคัญและเป็นผู้กำหนดทิศทางใหม่ๆ รวมถึงการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลอีกด้วย

คนยุคนี้จะมีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดมาในยุคเฟื่องฟู ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งจะใช้ควบคู่กันไปทั้งการทำงานและการใช้งานส่วนตัว โดย ETDA ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า Gen Y หรือ มิลเลนเนียล ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7.6 ชม./วัน โดยผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด รองลงมาคือเดสก์ท็อป และโน้ตบุ๊ก ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียยังเป็นกิจกรรมยอดนิยมสูงสุดด้วย

สำหรับการช็อปปิ้งของคนยุคนี้ก็แตกต่างจากคนยุคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ “Mobile First Attitude” ซึ่งปัจจุบันสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเข้ามามีบทบาทในการซื้อของออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเองก็ได้มีการพัฒนารูปแบบของเว็บไซต์ให้รองรับกับทุกอุปกรณ์สื่อสาร รวมไปถึงการสร้างแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นมาด้วย

นอกจากนั้น โซเชียลมีเดียได้เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ซึ่งคนยุคมิลเลนเนียลเองก็ค่อนข้างเปิดใจรับโซเชียลมีเดียให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ครับ ในขณะที่คนยุคมิลเลนเนียลมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ได้หวั่นไหวในเรื่องราคามากนักแต่ก็ยังต้องการที่จะเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้ออยู่ดี

จากสถิติของไพรซ์ซ่า ประเทศไทยในปี 2016 พบว่า คนยุคมิลเลนเนียลเข้ามาใช้บริการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึง 75.76% ผมมองว่า คนยุคมิลเลนเนียลเองอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของราคาเป็นอันดับหนึ่ง แต่จะเน้นที่ความสะดวกสบายจากการช็อปปิ้งออนไลน์ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความพร้อมในการจัดส่งสินค้าของแต่ละร้านค้ามากกว่า ถ้าร้านค้าไหนที่ให้บริการหรือสนับสนุนความคาดหวังของคนยุคมิลเลนเนียลในส่วนนี้ได้ ถ้าราคาต่างกันเล็กน้อยก็ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของคนยุคมิลเลนเนียลเลยครับ

ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญครับ