posttoday

โพลนิด้าคน42.15%มองรัฐให้เงินช่วยคนจนเหมาะสม

18 ธันวาคม 2559

นิด้าโพลเผยคน 42.15% มองรัฐจ่ายเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยเหมาะสม ขณะที่ 43.67%เชื่อช็อปช่วยชาติช่วยกระตุ้นศก.

นิด้าโพลเผยคน 42.15% มองรัฐจ่ายเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยเหมาะสม ขณะที่ 43.67%เชื่อช็อปช่วยชาติช่วยกระตุ้นศก.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจไทยและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2559” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 15 ธ.ค. 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,255 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี ได้แก่ มาตรการของรัฐในการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย และมาตรการลดหย่อนภาษี ในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช็อปช่วยชาติ”

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันดีขึ้นหรือยัง เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) พบว่า ประชาชน ร้อยละ 4.22 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ร้อยละ 28.69 ระบุว่า สถานการณ์ ทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.44 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีขึ้น ร้อยละ 20.88 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลย ร้อยละ 16.65 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยแย่กว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 9.00 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม ไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/เฉย ๆ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อเกี่ยวกับมาตรการของรัฐในการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ตั้งแต่ 1,500 บาท ถึง 3,000 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.15 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะคนจนจะได้มีรายได้มากขึ้น เพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ร้อยละ 37.21 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ควรสร้างงาน สร้างอาชีพ จะดีกว่า ร้อยละ 21.04 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ร้อยละ 10.12 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ร้อยละ 9.00 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ต่างอะไรจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 3.43 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ อาจเกิดการสวมสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อย ทำให้คนที่มีรายได้น้อย หรือคนที่จนจริง ๆ ได้ไม่ทั่วถึง, ควรส่งเสริมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือพยุงราคาสินค้าดีกว่า, ทำให้ประชาชนเห็นแก่ได้ รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว, ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้เป็นจำนวนเงินน้อยเกินไป แต่ยังดีกว่านำไปให้กับข้าราชการ และร้อยละ 2.23 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/เฉย ๆ

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ผู้ที่มีรายได้น้อย มีสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้ที่มีรายได้สูง โดยผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ จะเห็นว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะคนจนจะได้มีรายได้มากขึ้น เพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะที่ผู้ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในเกณฑ์ 20,001 บาทขึ้นไปต่อเดือน ที่ระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ควรสร้างงาน สร้างอาชีพจะดีกว่า นั้น มีสัดส่วนมากกว่าผู้ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาทลงมา ต่อเดือน

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช็อปช่วยชาติ” โดยให้นำรายจ่าย จากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14 – 31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.67 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2559 รองลงมา ร้อยละ 21.04 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ร้อยละ 18.01 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ร้อยละ 17.61 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะเป็นการกระตุ้นให้ร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยากเข้าสู่ระบบในอนาคต ร้อยละ 10.52 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าชุมชน จะไม่ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 8.05 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะคนที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย

ร้อยละ 5.50 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ ไม่เหมาะสม เพราะไม่ต่างอะไรจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 2.71 ระบุอื่น ๆได้แก่ ควรเริ่มในช่วงต้นเดือนธันวาคม หรือขยายระยะเวลาออกไปอีก เพราะในเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่มีวันหยุดเยอะ, ควรเพิ่มสินค้าและการบริการที่เข้าร่วมโครงการให้มีความหลายหลายมากยิ่งขึ้น, เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเสียภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีรายได้สูง, ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการสร้างความฟุ่มเฟือยให้กับประชาชน และร้อยละ 8.53 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/เฉย ๆ

ประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ผู้ที่มีรายได้สูง (อยู่ในเกณฑ์มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป) มีสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ที่มีรายสูง ส่วนใหญ่ จะมีสัดส่วนความคิดเห็นด้วยมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยในเกือบทุกประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นที่เห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559 และประเด็นการกระตุ้นให้ร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยากเข้าสู่ระบบในอนาคต

มีเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่ผู้ที่มีรายได้น้อย มีสัดส่วนความคิดเห็นมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง คือ มาตรการดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะคนที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ที่มีรายได้น้อย

โพลนิด้าคน42.15%มองรัฐให้เงินช่วยคนจนเหมาะสม