posttoday

แยกลงทุนเน็ตหมู่บ้าน

03 พฤศจิกายน 2559

บอร์ดดีอีจัดระเบียบกระทรวง ดิจิทัลฯ-กสทช. ให้เสร็จปีหน้า แยกลงทุนขยายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน พร้อมดันสมาร์ทซิตี้เพิ่มเป็น 6 แห่ง

บอร์ดดีอีจัดระเบียบกระทรวง ดิจิทัลฯ-กสทช. ให้เสร็จปีหน้า แยกลงทุนขยายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน พร้อมดันสมาร์ทซิตี้เพิ่มเป็น 6 แห่ง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าการลงทุนเพื่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่าทั้งสองส่วนนี้จะลงทุนได้ทันภายในกรอบเวลาปี 2560 จะมีบางส่วนที่เหลื่อมไปในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ ในส่วนโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบการแยกการลงทุนที่ชัดเจนระหว่างกระทรวงดีอีกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ชัดเจนไม่ให้เกิดความซาซ้อน โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการลงทุนขยายโครงข่ายในหมู่บ้าน 2.47 หมื่นแห่ง ภายใต้วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นงบ 1.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 และอีก 2,000 ล้านบาท ในปี 2561

ขณะที่ กสทช.จะรับไปลงทุนใน 1.96 หมื่นแห่ง แยกเป็น 3,920 แห่ง ตามโครงการเดิมของ กสทช.และรับเพิ่มเติมใหม่จากการเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้อีก 1.57 หมื่นแห่ง ทั้งหมดจะใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการลงทุนในเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ เพื่อขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้ดำเนินการควบคู่กับการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศ โดยจะให้แล้วเสร็จในปี 2560 เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้อีก 4 แห่ง จากปัจจุบันที่ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ จ.ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยจะเป็นการดำเนินการในกรุงเทพฯ ภาคตะวันออก และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมจะเติมแผนงานที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้เข้ามาเพื่อให้การพัฒนามีความสมบูรณ์มากขึ้น การดำเนินการนี้จะอยู่ในกรอบเวลา 5 ปี ที่จะมีสมาร์ทซิตี้ 6 เมือง และจะเพิ่มเป็น 10-12 แห่ง ในอีก 10 ปี และเป็นเท่าตัวในอีก 20 ปี

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนายุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว 20 ปี และจะใช้เป็นแผนอ้างอิงสำหรับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของหน่วยงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวมีเป้าหมายและตัวชี้วัดสำคัญ ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านไอซีทีให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 25 อันดับแรก และมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ดีขึ้นเป็น 35 อันดับแรก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 18.2%