posttoday

ยื่นตั้งโรงงานใหม่แผ่ว

01 มิถุนายน 2559

ยอดอนุมัติ ร.ง.4 ในช่วง 5 เดือนแรก มูลค่าติดลบ 7.54% เฉพาะเดือน พ.ค. ดิ่งกว่า 35%

ยอดอนุมัติ ร.ง.4 ในช่วง 5 เดือนแรก มูลค่าติดลบ 7.54% เฉพาะเดือน พ.ค. ดิ่งกว่า 35%

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดอนุมัติใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และการขยายกิจการในเดือน พ.ค. 2559 มีจำนวน 317 โรงงาน ลดลงจากเดือน พ.ค. 2558 ที่มีจำนวน 440 โรงงาน หรือลดลง 35.1% โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ที่2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดือน พ.ค. 2558 ที่มีมูลค่า 3.08 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 35.10% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ ยอดอนุมัติใบอนุญาต ร.ง.4 และขยายกิจการอยู่ที่ 1,914 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดอนุมัติ 2,033 โรงงาน หรือลดลง 5.85% และมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท หรือลดลง 7.54%

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรก ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ รองลงมาเป็นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

นายพสุ กล่าวว่า ในส่วนยอดการแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานในเดือน พ.ค. 2559 มีจำนวน 217 โรงงาน จากเดือน พ.ค. 2558 ที่มีจำนวน 367 โรงงาน หรือลดลง 40% ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี พบว่ามีจำนวน 1,570 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 2,080 โรงงาน หรือลดลง 24.59% และมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.94 แสนล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 1.95 แสนล้านบาท หรือลดลง 0.51%

“แต่ละปีจะมีโรงงานที่แจ้งเริ่มกิจการเข้ามาประมาณ 5,000 โรงงาน มูลค่าการลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 80-90% ของยอดอนุมัติ ร.ง.4 ทั้งหมด โดยอาจจะมีการได้ใบ ร.ง.4 มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ก่อนที่จะมาเปิดกิจการ ซึ่งในส่วนที่ได้รับใบ ร.ง.4 แล้ว แต่ยังไม่เปิดกิจการ ทาง กรอ.จะเข้าไปสอบถามว่าติดปัญหาอะไร เพื่อเข้าไปอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในการลงทุน” นายพสุ กล่าว

นายพสุ เชื่อว่ายอดยื่นและอนุมัติร.ง.4 ปีนี้ จะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 5%เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายและมาตรการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม เช่น นโยบายคลัสเตอร์ และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต