posttoday

เอไอเอสปั้นสตาร์ทอัพ หวังส่งแข่งระดับอาเซียน

01 ธันวาคม 2557

ความต้องการด้านนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ของไทยยังขาดอีกมาก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ถึงแม้จะพลาดรางวัลชนะเลิศการประกวดแข่งขันสตาร์ทอัพไทยระดับอาเซียน Regional Mobile App Challenge ซึ่งเป็นการจัดงานร่วมกันของกลุ่มโอเปอเรเตอร์จาก 6 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย สิงค์เทล ประเทศสิงคโปร์ ออพตัส ประเทศออสเตรเลีย เอไอเอส ประเทศไทย แอร์เทล ประเทศอินเดีย แอฟริกา โกลบ เทเลคอม ประเทศฟิลิปปินส์ และเทลคอมเซล ประเทศอินโดนีเซีย

ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนทีมสตาร์ทอัพไทย เพราะอุตสาหกรรมไอทีนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนในด้านนวัตกรรมใหม่ของประเทศ ช่วยให้ไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ ต้องยอมรับว่าสตาร์ทอัพไทยมีความสามารถด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแอพพลิเคชั่น แต่ยังขาดในเรื่องแผนการตลาด

“ในแต่ละปี มีสตาร์ทอัพไทยกว่า 500 ราย แต่กลับเลิกล้มกลางคัน จนเหลือที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่ราย เพราะขาดในเรื่องของเงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แผนการตลาดไม่รัดกุมหรือแอพนั้นเฉพาะกลุ่มมากเกินไป ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใดก็ตาม ทางบริษัทจึงพยายามที่จะเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ เพราะตรงกับความตั้งใจในการหาดิจิทัลโซลูชั่นและคอนเทนต์ใหม่ๆ มาตอบสนองลูกค้า เพื่อก่อให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ในกลุ่มนักพัฒนาเพื่อให้เกิดอินโนเวชั่นใหม่ๆ”ปรัธนา กล่าว

ทีมสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า นักเรียน (Nugrean) นั้นเป็นตัวแทนจากกลุ่มแอพพลิเคชั่นประเภทบริการ ที่บริษัทได้ทำการคัดเลือกแล้วว่า มีจุดเด่นแตกต่างจากผู้เข้าแข่งขันรายอื่น แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นแอพที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากเกินไป เพราะแอพนี้จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับติดตามตัวเด็กในการไปโรงเรียน เพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า ลูกเดินทางอย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยดูรายละเอียดผ่านทางแอพ ในขณะที่แอพ วัตต์คอร์ส สามารถช่วยให้ทราบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนั้นใช้พลังงานไปเท่าไหร่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้าเท่าไหร่ ผ่านทางสมาร์ทโฟนได้ทันที

“เอไอเอสยังคงสนับสนุนสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มีไอเดียและพลังในการทำงาน เพราะการทำงานเชิงเทคโนโลยีนี้ นอกจากความยากในเรื่องของการคิดค้นอินโนเวทีฟใหม่ๆ แล้ว ความตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เอไอเอสพร้อมที่จะช่วยเหลือด้านความรู้ แพลตฟอร์มรองรับการทำงาน เพราะความต้องการด้านนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ของไทยยังขาดอีกมาก ในขณะที่ความต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านไอทียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกันเชิงธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจะช่วยหนุนให้เกิดเทคโนโลยีที่ดีได้”ปรัธนา กล่าว

ในขณะที่แอพพลิเคชั่นยอดนิยมของเอไอเอส อันดับ 1 ได้แก่ เอไอเอส ไลฟ์ทีวี แบ่งเป็นการดูรายการทีวีแบบสดๆ ผ่านมือถือ มีลูกค้าใช้งาน 1.5 ล้านราย เอไอเอสพรีเมียมลีกและมูวี่สโตร์ รวมกัน 2 ล้านราย เอไอเอสบุ๊กสโตร์มี 5-6 แสนราย เกม 1 ล้านราย ส่วน Newsloop ที่เป็นลิ้งรวมข่าวมีประมาณ 2-3 แสนราย ซึ่งกำลังปรับปรุงให้รายงานข่าวได้ไวขึ้นคาดว่าถ้าทำได้รวดเร็วเหมือนแอพแจ้งข่าวอื่นๆ น่าจะมีคนโหลดมากขึ้น

จากสัดส่วนรายได้หลักของเอไอเอส 30-35% มาจากธุรกิจแบบ non-voice แบ่งเป็นการใช้บริการดาต้า 80% ใช้งานคอนเทนต์ 20% แสดงให้เห็นถึงการใช้งานดาต้าของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด จากความนิยมในการใช้งานโซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ถ้านักพัฒนาหรือสตาร์ทอัพได้รับ แรงสนับสนุนที่ดีจากนักลงทุนเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ผลักดันให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล