posttoday

กรอ.สั่งปิดโรงงานลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

07 กรกฎาคม 2557

กรอ.สั่งปิดโรงงานรีไซเคิลในพื้นที่อ.บ่อทอง ชลบุรี ลอบปล่อยน้ำปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมโดยไม่ผ่านการบำบัด

กรอ.สั่งปิดโรงงานรีไซเคิลในพื้นที่อ.บ่อทอง ชลบุรี ลอบปล่อยน้ำปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมโดยไม่ผ่านการบำบัด

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ อ.บ่อทอง จ. ชลบุรีว่า ประชาชน อบต.บ่อกวางทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ได้ร้องเรียนว่าโรงงานในพื้นที่คือ บริษัท เอช.เจ.ซี. ชิพปิ้ง ไทยแลนด์ (HJC Shipping Thailand co LTD) บริษัทสัญชาติจีน ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลที่นำน้ำที่ได้จากการชุบโลหะมาตกตะกอนให้ได้โลหะหนัก ได้ปล่อยน้ำทิ้งลงบ่อด้านหลังโรงงานโดยไม่ผ่านการบำบัด 

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริงจึงได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา39(1) พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 สั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อปรับปรุงโรงงานให้มีระบบการบำบัดน้ำจากการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังมีการสั่งให้ดำเนินคดีกรณีที่ตั้งโรงงานแล้วสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อประชาชน มีความผิดเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งวัตถุอันตราย  และอยู่ระหว่างจะยื่นศาลให้สั่งให้เจ้าของกิจการฟื้นฟูและบำบัดพื้นที่โดยรอบโรงงานซึ่งได้รับความเสียหายจากการประกอบการของโรงงาน เนื่องจากการปล่อยน้ำซึ่งไม่ผ่านการบำบัดลงบ่อดังกล่าวได้ทำให้มีทองแดง นิกเกิล และโลหะหนักอื่นๆ ซึมลงใต้ดินซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นลุ่มน้ำคลองหลวง และยังพบว่าสวนยางพาราโดยรอบโรงงานได้รับความเสียหายจำนวนมากด้วย เนื่องจากโรงงานดังกล่าวประกอบการมาตั้งแต่ปี 2553 และมีการปล่อยกากอันตรายดังกล่าวลงหลุมหลังโรงงานซึ่งมีพื้นที่ 17 ไร่ลึกกว่า 20 เมตร มาอย่างต่อเนื่อง

“ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนเข้ามาที่อุตสาหกรรมจังหวัด(อสจ.)ชลบุรีตั้งแต่เดือนมิ.ย. แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แล้วไม่พบความผิดปกติ แต่ครั้งนี้ไปตรวจพร้อมนำรถแบคโฮไปขุดพิสูจน์บ่อที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายจึงพบว่ามีการทำผิดจริง”นายณัฐพล กล่าว

อธิบดี กรอ. กล่าวว่า นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ อสจ. ปูพรมลงพื้นที่ตรวจโรงงานต้องสงสัยที่จะมีพฤติกรรมลักษณะลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม แต่บางรายก็ยังคงตรวจจับได้ลำบากเนื่องจากมีการนำกากไปทิ้งนอกโรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าและเป็นการเข้าไปทิ้งในเวลากลางคืน

ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่พบการกระทบผิดยังคงเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ปราจีนบุรี จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี 

นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดี กรอ. กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาบ่อขยะที่ปล่อยมลพิษสู่ชุมชน ซึ่งในส่วนของ กรอ. ได้รับผิดชอบในส่วนของบ่อขยะอุตสาหกรรม ซึ่งจากการประเมินล่าสุดพบว่าจะมีขยะอุตสาหกรรมทั่วประเทศเกิดขึ้นประมาณ 40 ตันต่อวัน และในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายประมาณ 4 ตันต่อวัน แต่ในจำนวนนี้สุดท้ายจะมีเหลือไม่มาก เพราะจะมีการนำไปแยกเอาโลหะที่มีค่าหรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ กรอ. ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานประเภท 3 หรือโรงงานที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้องทั้วประเทศจำนวนกว่า 7 หมื่นโรง เป็นส่วนที่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่ง กรอ. ดูแล 9,000 แห่ง ส่วนที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมจังหวัดที่ขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคาดว่าโรงงานทั้งหมดนี้จะใช้เวลาสำรวจไม่เกิน 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นอาจจะมีโรงงานที่มีกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่ถูกต้องกว่าครึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ผู้ประกอบการขาดความเข้าใจในกระบวนการกำจัด ซึ่งขั้นต้น กรอ. จะลงไปตักเตือนให้ปรับปรุงกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และถ้าพบว่ายังไม่แก้ไขก็จะลงโทษเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปิดโรงงาน ไปจนถึงโทษขั้นสูงสุดคือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายเสรี กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น กรอ. เตรียมเสนอของบประมาณปี 2558 ในการศึกษาและจัดสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรมอันตราย 4 แห่ง ใน 4 ภาค คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างแห่งละ 3 พันล้านบาท รวมทั้ง 4 แห่งจะใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างได้หลังปี 2559 และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2561จากปัจจุบันนี้ มีเตาเผยขยะอุตสาหกรรมอันตรายมี 1 แห่งที่ จ.สมุทรปราการ มีกำลังการกำจัดขยะ 200-300 ตันต่อวัน มีหลุมขยะอุตสาหกรรมอันตราย 3 แห่ง และมีบ่อขยะอุตสาหกรรมอีก 9 แห่ง