posttoday

"อังค์ถัด" แนะรัฐกระตุ้นบริโภคในประทศ

13 กันยายน 2556

ลดพึ่งพาส่งออก เงินทุนไหลเข้า เหตุทำให้ ศก. ผันผวนรุนแรง หากเกิดวิกฤต อาจมีผลกระทบยาวนาน ย้ำไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัด ทำกำลังซื้อลดลง เป็นผลพวงให้ ศก. ถดถอย ยืดเยื้อ

 ลดพึ่งพาส่งออก เงินทุนไหลเข้า เหตุทำให้ ศก. ผันผวนรุนแรง หากเกิดวิกฤต อาจมีผลกระทบยาวนาน ย้ำไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัด ทำกำลังซื้อลดลง เป็นผลพวงให้ ศก. ถดถอย ยืดเยื้อ

นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผย “รายงานการค้าและการพัฒนา 2013 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด โดยระบุว่า อังค์ถัดประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยประเทศพัฒนาแล้วเติบโตเพียงร้อยละ 1 ประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.5 ดังนั้นกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกและจะมีบทบาทมากขึ้นจากการรวมตัวกันในภูมิภาค เช่น อาเซียน+3 , อาเซียน+6 แต่การเติบโตดังกล่าวยังไม่สมดุลและยั่งยืน เพราะใช้การส่งออกมาเป็นตัวนำเศรษฐกิจมากจนเกินไป อังค์ถัดเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยหรือเกิดช็อกครั้งใหญ่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ประเทศที่กำลังพัฒนาหันมากระตุ้นอุปสงค์หรือการอุปโภคบริโภคในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออก และสนับสนุนให้เกิดการค้าระหว่างกันมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดการรวมตัวเข้าสู่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชากรจะมีมากขึ้นถึง 600 ล้านคน ดังนั้นการที่ไทยหันมาส่งออกให้กลุ่มประเทศในอาเซียนมากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.8 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2555 "อังค์ถัดเน้นย้ำว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ทุกประเทศไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัด เพราะทำให้กำลังซื้อลดลง เป็นผลพวงให้เศรษฐกิจถดถอย ยืดเยื้อ อังค์ถัดแนะนำให้ใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ"

นอกจากนี้ อังค์ถัด ยังเสนอแนะให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการพึ่งพิงเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความผันผวนอย่างมาก สร้างความเสี่ยงสูงและเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า ประเทศกำลังพัฒนาควรหันมาพึ่งเงินทุนในประเทศมากขึ้น ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเน้นการให้เงินทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานสูงขณะเดียวกันรัฐบาลควรมีมาตรการบางอย่างเพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า เพราะจะทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น