posttoday

ธีระชัยแนะเลิก3วิธีบริหารศก.ทำชาติเจ๊ง

16 กรกฎาคม 2556

อดีตขุนคลังรัฐบาลปู ชี้จุดเศรษฐกิจไทยต้องแก้ไขใหม่ ใน 3 เรื่อง นโยบายประชานิยม ป้องปรามคอร์รัปชั่น คุ้มครองข้าราชการ ระบุถ้าไม่แก้ชาติล่มจมแน่

อดีตขุนคลังรัฐบาลปู ชี้จุดเศรษฐกิจไทยต้องแก้ไขใหม่ ใน 3 เรื่อง นโยบายประชานิยม ป้องปรามคอร์รัปชั่น คุ้มครองข้าราชการ ระบุถ้าไม่แก้ชาติล่มจมแน่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว thirachai phuvanatnaranubala ถึง ระบบเศรษฐกิจไทย ที่ต้องมีการแก้ไขวิธีปฏิบัติใหม่ ว่า ในต้นปีหน้า กระแสเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้มข้นมากขึ้น ผมจึงเห็นว่านักวิชาการควรใช้โอกาสนี้ ตั้งคำถามแก่กันว่า ควรแก้ไขกติกาด้านการบริหารเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องกติกาด้านเศรษฐกิจนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้เน้นเรื่องนี้

- ที่ผ่านมา ได้มีการเน้นเรื่องทุจริตเลือกตั้ง เรื่องให้คนดีเข้ามาเป็นรัฐบาล และเรื่องการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

- แต่กติกาในด้านการบริหารเศรษฐกิจนั้นยังไม่รัดกุม และหากไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงเสียขณะนี้ ในอนาคตประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบหายนะ

- กติกาที่ควรแก้ไขนั้นมีสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องการป้องปรามคอร์รัปชั่น และ (ค) เรื่องการคุ้มครองข้าราชการ

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องประชานิยม ก็เพราะในอนาคต จะมีพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงมากขึ้น และเมื่อแข่งกันลดแลกแจกแถม ในที่สุดประเทศไทยจะเข้าสภาวะหนี้ล้นพ้นตัว

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องป้องปรามคอร์รัปชั่น ก็เพราะนักธุรกิจเอกชนหลายรายให้ข้อมูลผมว่า การเรียกเงินใต้โต๊ะได้ขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ 40 แล้ว หากไม่แก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดเสียที ประเทศไทยก็มีแต่จะล่มจม

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องข้าราชการ ก็เพื่อทำให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อทำให้ข้าราชการกล้าที่จะฝืนปฏิเสธนักการเมือง จึงควรจะมีมาตรการคุ้มครองข้าราชการให้มากขึ้น

ต่อมาเช้านี้ นายธีระชัยได้ โพสต์ข้อความต่ออีกว่า เกี่ยวกับกติกานโยบายประชานิยม

- ข้อที่หนึ่ง ควรจำกัดการกู้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมที่ไม่จำเป็น

- เราไม่ควรห้ามพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม เพราะนโยบายบางเรื่องก็เป็นความคิดที่ดี และใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้

- แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรัฐบาลจะใช้เงินจากแหล่งใดเพื่อการนี้

- หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการเก็บภาษี หรือหารายได้ หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นชดเชย ก็จะไม่ค่อยมีความเสี่ยง อาจจะเข้าหลักเก็บรายได้จากคนรวย มาช่วยคนจน

- แต่หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการกู้ยืมพร่ำเพรื่อ ก็จะทำให้ฐานะของประเทศมีความเสี่ยงสูง

- จึงควรแบ่งนโยบายประชานิยมเป็นสองประเภท (ก) ประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องรักษาพยาบาล หรือเรื่องการศึกษา เป็นต้น และ (ข) ประเภทที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นต้น

- และควรจำกัดขอบเขตการกู้เงิน โดยเปิดให้รัฐบาลใช้แหล่งเงินกู้ เฉพาะสำหรับนโยบายประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิตเท่านั้น

- แต่สำหรับนโยบายที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต ควรให้รัฐบาลหารายได้หรือลดรายจ่ายอื่นๆ มาชดเชย

- ข้อที่สอง ควรให้พรรคการเมืองประกาศแหล่งเงินสำหรับนโยบายประชานิยม

- พรรคใดที่หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมควรจะต้องประกาศว่า (ก) นโยบายดังกล่าวจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใด (ข) จะใช้เงินจากแหล่งใด (ค) หากจะเก็บภาษี ก็ให้ระบุว่าเป็นภาษีชนิดใด เป็นเงินเท่าใด (ง) หากจะหารายได้อื่น ก็ให้แจงรายละเอียด