posttoday

"การตลาด4จอ"เข้าถึงผู้บริโภคยุคดิจิตอล

25 มิถุนายน 2556

หากจะเข้าสู่กระบวนการดิจิตอล การเลือกช่องทางคือสิ่งสำคัญ และ 4 หน้าจอหลักมีจุดเด่นที่แตกต่าง

หากจะเข้าสู่กระบวนการดิจิตอล การเลือกช่องทางคือสิ่งสำคัญ และ 4 หน้าจอหลักมีจุดเด่นที่แตกต่าง

แนวทางการทำธุรกิจและการตลาดในโลกยุคดิจิตอล สื่อต่างๆ ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดต้องมองแนวโน้มให้ออก ต้องกล้าคิด กล้าทำ เพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ความคิดรูปแบบใหม่ โดยจากการสำรวจของกูเกิลพบว่า 4 หน้าจอหลักที่ผู้บริโภคมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง คือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรทัศน์ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 82% และกินเวลาในแต่ละวันไปประมาณ 9.8 ชั่วโมง ขณะที่สื่ออื่นรวมกันมีสัดส่วนประมาณ 18% แสดงให้เห็นว่าหน้าจอเป็นช่องทางที่จะสื่อ|ข้อความไปถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด

จากการสำรวจและเปิดเผยโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ปีนี้มีประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเพียง 3% ของมูลค่าตลาดรวม ทั้งที่ผู้บริโภคใช้เวลากับเว็บไซต์และสมาร์ทโฟนรวมแล้วประมาณ 50% เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ และเมื่อเปรียบเทียบการบริโภคสื่อเฉลี่ยต่อสัปดาห์แล้ว คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 16 ชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ดูโทรทัศน์ประมาณ 10 ชั่วโมง น้อยกว่าอินเทอร์เน็ตพอสมควร

อริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรู้ว่ากำลังมองหาอะไร และจะหาอะไรได้บ้าง ขณะที่เวลาที่อยู่กับโทรทัศน์ลดลง ยิ่งมีช่องให้เลือกมากขึ้น รายการมีมากขึ้น และเวลามีจำกัด ดังนั้นต้องใช้กลยุทธ์มากขึ้นเพื่อสื่อให้ตรงกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแนวทางที่ดีคือ ต้องผสมผสานสื่อเดิมกับสื่อดิจิตอลเข้าด้วยกัน

สื่อออนไลน์สามารถขับเคลื่อนข้อมูลเชิงลึกได้ดีกว่า ปัจจุบันคนจะซื้อสินค้าหรือบริการก่อนตัดสินใจต้องหาข้อมูล เปรียบเทียบคุณสมบัติ ดูราคา หาโปรโมชั่นและสถานที่ซื้อขาย เดี๋ยวนี้สามารถซื้อทางออนไลน์ มีปัญหาก็สอบถามบริการทางอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด ถ้าจับจุดเหล่านี้ได้สามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับผู้บริโภคได้อย่างดี โดยไม่ใช่การยัดเยียดรายละเอียดจนอาจเกิดเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ดังนั้น หากจะเข้าสู่กระบวนการดิจิตอล การเลือกช่องทางคือสิ่งสำคัญ และ 4 หน้าจอหลักมีจุดเด่นที่แตกต่าง ได้แก่ สมาร์ทโฟน ที่คนใช้งานอยู่ด้วยนานที่สุด ใช้งานได้ตลอดเวลา แท็บเล็ต สร้างประสบการณ์เข้าถึงได้เต็มรูปแบบยิ่งกว่า คอมพิวเตอร์ เข้าถึงรายละเอียด สั่งซื้อและชำระเงินได้สะดวก สุดท้ายคือ โทรทัศน์ ที่ดึงดูดและสร้างความสนใจได้ดี

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้งานสื่อดิจิตอลออนไลน์ได้โดดเด่นมากที่สุดในประเทศไทย อันดับแรกคือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการเข้าถึงข้อมูลการใช้งาน มีแหล่งข้อมูลใหญ่อยู่ต่างประเทศ การทำสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า ง่ายต่อการศึกษารายละเอียดของสินค้าและบริการได้ดี สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อตัดสินใจได้ และหลายครั้งสามารถปิดการขายผ่านทางออนไลน์ได้โดยตรง กลุ่มต่อมาคือธุรกิจยานยนต์ แม้ไม่สามารถปิดการขายได้ แต่สามารถนำเสนอสินค้าได้ในทุกรายละเอียด อาศัยการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อสำรวจความต้องการและนัดหมายเพื่อทดสอบสินค้าได้

อีกธุรกิจที่มีการใช้มากคือ ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากลูกค้ามีอยู่ทั่วโลก การโฆษณาออนไลน์ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้จากทุกแห่งที่มีอินเทอร์เน็ต การเสนอโปรโมชั่นพิเศษทำได้ง่าย ดังเห็นได้จากธุรกิจสายการบิน โรงแรม รถเช่าต่างๆ ต้องมีเว็บไซต์และทำตลาดออนไลน์ตลอดเวลา

สิทธิโชค นพชินบุตร ผู้อำนวยการธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ หนึ่งในผู้จำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีที่มีการใช้งานสื่อดิจิตอล กล่าวว่า ซัมซุงมีการบริหารจัดการการใช้งบการตลาดและโฆษณา โดยมีทั้งสื่อเดิมและสื่อดิจิตอลเพื่อสร้างการเข้าถึงที่มากกว่า อธิบายขยายความได้ดีกว่า เพราะซัมซุงรู้ว่าอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์คืออุปกรณ์หลักที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ ก็จะต้องใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นต้องสื่อสารออกไปทุกช่องทาง เมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ แล้วอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ในโลกออนไลน์ต้องมาเสริมได้ทันที และนั่นทำให้ซัมซุงเพิ่มงบการตลาดในสื่อดิจิตอลเป็น 2 เท่า เพื่อจัดทำสื่อให้ออกมาดึงดูด สวยทันสมัย และสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

สำหรับการใช้เครื่องมือสื่อดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพ เช่น การโฆษณาผ่านเสิร์ช เอ็นจิ้น เนื่องจากเป็นประตูสู่โลกออนไลน์ที่ชัดเจนที่สุด หลายครั้งที่ผู้บริโภคเลือกค้นหาผ่านเครื่องมือค้นหา ดังนั้นการทำการตลาดผ่านระบบนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อมาคือ การทำดิสเพลย์ โดยเฉพาะรูปแบบแบนเนอร์ มีสัดส่วนประมาณ 60% ของสื่อประเภทนี้ ซึ่งต้องทำออกมาให้ดูดีโดนใจ และสุดท้ายคือ วิดีโอ ที่ไม่ติดกับเวลาที่จำกัดเหมือนในโทรทัศน์และสามารถแชร์ต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกยุคดิจิตอลที่ต้องมี ความเข้าใจในผู้บริโภคและการใช้งาน ภาคธุรกิจต้องมีการปรับกระบวนความคิดและทัศนคติใหม่ ต้องใช้สื่อดิจิตอลออนไลน์มากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นมูลค่าตลาดสื่อดิจิตอลจะปรับสูงขึ้นอีกแน่นอน