posttoday

ขาช็อปออนไลน์ชอบดูข้อมูลสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย

27 มีนาคม 2556

"ราคูเท็น" เผยขาช็อปไทยชื่นชอบการแนะนำสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เผยคนเข้าเว็บอีคอมเมิร์ซผ่านโซเชียลฯโต200เท่า

"ราคูเท็น" เผยขาช็อปไทยชื่นชอบการแนะนำสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เผยคนเข้าเว็บอีคอมเมิร์ซผ่านโซเชียลฯโต200เท่า

"ราคูเท็น" ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นเจ้าของตลาดออนไลน์ของไทย Rakuten TARAD.com เผยข้อมูลเชิงลึกของดัชนีอีคอมเมิร์ซ การวิจัยระดับโลกด้านเทรนด์ช็อปปิ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นความสนใจของผู้บริโภคบนร้านค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยกว่าเกือบของผู้บริโภค 45% ชอบแนะนำสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย โดยขาช็อปจากประเทศไทย 65% มาเลเซีย 67% และอินโดนีเซีย 67% ที่ชื่นชอบการแชร์และแนะนำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความเข้มข้นในพฤติกรรมการแชร์เรื่องราวผ่านสังคมออนไลน์ แต่ละประเทศมียอดการใช้จ่ายต่ำสุดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อคน

นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่า ยอดการใช้จ่ายทั้งปี 2556 อยู่ที่ 725 เหรียญสหรัฐต่อคน โดยการสำรวจดังกล่าวยังพบอีกว่า ยอดใช้จ่ายแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก ในสหราชอาณาจักร มียอดใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,700 เหรียญสหรัฐ ขณะที่อีกมุมหนึ่งของโลก นักช็อปชาวไทยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนเพียง 243 เหรียญสหรัฐ ในปี 2556

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า ที่ราคูเท็นตลาดดอทคอม เราเห็นการเติบโตของผู้เข้าชมเว็บไซต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นถึง 200 เท่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ที่เราเห็นได้จากผลสำรวจ โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

การ์ดเนอร์ได้ทำนายไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า ภายในปี 2558 ประมาณ 50% ของข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ารายใหม่จะมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเช่น ชื่อล็อกอินในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม่ถึง 5% ณ ปัจจุบัน ผู้เกี่ยวข้องในวงการจึงควรร่วมมือกันสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค เพื่อความสบายใจในการช็อปปิ้งและแบ่งปันข้อมูลผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ

เมื่อพูดถึงการช็อปปิ้งทางอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย อินโดนีเซียยังคงรั้งตำแหน่งประเทศที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าในรูปแบบนี้มากที่สุด โดย 14% เปิดเผยว่า ปกติจะช็อปปิ้งผ่านทางสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ไม่ก็อุปกรณ์สื่อสารไร้สายชนิดอื่น ทางด้านขาช็อปชาวไทยก็ตามมาติดๆ อยู่ที่ 12% ในส่วนของผู้บริโภคชาวตะวันตก ประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร 12% สหรัฐ 10% และสเปน 9%

ในขณะที่ออสเตรีย 46% และเยอรมนี 46% ทำคะแนนนำมาในฐานะประเทศที่ยังคงนิยมการช็อปปิ้งตามร้านค้าที่มีหน้าร้านอยู่มากกว่าการช็อปออนไลน์ บราซิลและไต้หวันมีพฤติกรรมการช็อปออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 29% ในไต้หวัน และ 26% ในบราซิล เลือกช่องทางออนไลน์ ส่วนผู้บริโภคในไทยก็มีเกือบ 1 ใน 5 คน หรือ 18% ด้วยกันที่ชอบการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า

ภาวุธ กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์โมบาย หรือร้านค้าปกติ ผู้บริโภคล้วนแล้วแต่มองหาการบริการคุณภาพเยี่ยม และประสบการณ์การช็อปที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนก็ตาม ทุกวันนี้การเปิดเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางเสริมในการขายมันไม่พออีกต่อไป หน้าร้านบนเว็บไซต์จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค