posttoday

กสทช.ตีกลับแผนแม่บท

14 มีนาคม 2555

บอร์ด กสทช.ตีกลับ 3 แผนแม่บทหลัก สั่งทบทวนระยะเวลาคืนคลื่นก่อนเข้าพิจารณาใหม่21 มี.ค.

บอร์ด กสทช.ตีกลับ 3 แผนแม่บทหลัก  สั่งทบทวนระยะเวลาคืนคลื่นก่อนเข้าพิจารณาใหม่21 มี.ค.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดกสทช.  มีมติให้กลับไปทบทวนร่างแผนแม่บททั้ง 3 ฉบับ คือ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่  แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม หลังจากระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงตามความเห็นจากการประชาพิจารณ์

สำหรับเสียงส่วนใหญ่จากการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต้องการให้กำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ใหม่ ให้เหลือ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี เพราะระยะเวลาเดิม คือ  กระจายเสียง 5 ปี โทรทัศน์ 10 ปี และโทรคมนาคม 15 ปี นั้นนานเกินไป แต่บอร์ดฝั่งโทรคมนาคมและบอร์ดกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ยืนยันระยะเวลาเดิม ทางบอร์ดใหญ่จึงเห็นว่าควรต้องมีรายละเอียดชี้แจงให้ชัดเจนว่าเหตุใดจึงไม่ยอมปรับแก้ตามความเห็นประชาพิจารณ์

ทั้งนี้ ในวันที่ 21 มี.ค. จะมีการประชุมบอร์ดวาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหากทั้งสองบอร์ดยืนยันว่าจะไม่ปรับกี้ระยะเวลาคืนคลื่นนั้นจะต้องชี้แจงให้ละเอียด เพราะบอร์ดเห็นชอบแล้ว จะนำร่างทั้ง 3 ฉบับขึ้นเว็บไซต์และต้องแจงเหตุผลที่แก้ไขหรือไม่แก้ไขในประเด็นต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากเป็นไปตามแผนคือภายในเดือน มี.ค.นี้

รายงานข่าวจาก กสทช. ระบุว่า ขณะนี้ภายใน กสทช. 11 ท่านเกิดปัญหาขัดแย้งกันเอง ทำให้การทำงานต่างๆ ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้การพิจารณาแผนแม่บททั้ง 3 ฉบับเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ไม่สามารถได้ข้อสรุป

ขณะที่ น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า  กสทช.ยังไม่ได้พิจารณาการให้ใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์  กับ บริษัท ไทยคม หลังจากที่ไทยคมได้เสนอทำหน้าที่รักษาวงโคจร 120 องศาตะวันออก ไปเมื่อช่วงต้นปีและต้องการดำเนินการในรูปแบบไลเซ่นส์ไม่ใช่สัมปทาน เนื่องจาก กสทช. ต้องศึกษาในรายละเอียดว่ากรให้ไลเซ่นส์สามารถทำได้ทันที หรือ จะต้องเปิดประมูล

อย่างไรก็ตาม ทางไทยคมได้แสดงความจำนงเสนอทำหน้าที่ประสานกับทางเอเชียแซทในการรักษาวงโคจรดังกล่าวเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียสิทธิ์ และได้ยื่นเงื่อนไขว่าต้องเป็นการทำในรูปแบบไลเซ่นส์  โดยแผนการให้บริการส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที  ซึ่งหากไม่ได้รับไลเซ่นส์ ก็จะให้บริการในตลาดต่างประเทศเท่านั้น