posttoday

เกมน้ำมัน

11 ตุลาคม 2559

โดย...รัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

โดย...รัชต์  โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

สวัสดีครับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวระดับที่ 48.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น8.45% ส่วนน้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวที่ระดับ 49.06 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลขึ้น เพิ่มขึ้นมาถึง 6.91%  ซึ่งถือเป็นการขานรับข่าวช็อกตลาดเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยกลุ่มโอเปก (OPEC) ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงครั้งแรกในรอบ 8 ปี จากกำลังผลิตอยู่ที่  33.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 32.5-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นสัญญาณดีว่า  น้ำมันน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้เสียที เพราะดูเหมือนว่าอุปสงค์-อุปทานน้ำมันที่กดดันราคาน้ำมันมาตลอดอาจจะมีโอกาสกลับสู่จุดสมดุล แต่เอาเข้าจริงเกมนี้ก็ไม่น่าจะจบง่ายๆ และสำหรับนักลงทุน ผมมองว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตาม

ถ้าลองมองไปในตลาดน้ำมัน ท่านนักลงทุนจะเห็นภาพนี้ครับ ภาพที่ผู้ผลิตน้ำมันทำทุกทางเพื่อจะผลักราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้เก็งกำไรก็อยากให้ราคาร่วงลงมา ฝั่งกองทุน Hedged Fund และกลุ่มที่เข้าไปลงทุนในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าก็อยากจะขายทำกำไร ซึ่งทั้งหมดนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ที่กุมบังเหียนราคาน้ำมันโลกไม่มีใครจะมีอิทธิพลเท่า OPEC   แต่ที่น่าคิดคือตรงนี้ครับ  เพียงแค่ OPEC ออกมาประกาศว่าจะลดกำลังการผลิต โดยที่โควต้าการผลิตของแต่ละประเทศยังคลุมเครือและต้องรอความชัดเจนในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 30 พฤศจิกายน แต่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมัน NYMEX ก็มีคนเข้าไปซื้อเพิ่มขึ้นถึง  24,131 สัญญา (ที่มา: Bloomberg ณ 28 ก.ย. 2559) และราคาน้ำมันในตลาดโลกก็พุ่งพรวดขึ้นมาได้ 5.32% ภายในวันเดียว

ภาพนี้กำลังบอกเราว่า เอาเข้าจริงแล้ว ตลาดน้ำมันนั้นเต็มไปด้วยนักเก็งกำไร ยิ่งตลาดผันผวนก็ยิ่งดึงดูดใจ มีหลายคนที่พร้อมจะผาดโผนไปบนความผันผวนเพื่อชิงโอกาสทำกำไรมากกว่าจะให้เวลากับการพิจารณาเรื่องอุปสงค์-อุปทานน้ำมัน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะยาว

ในมุมของการลงทุน ผมอยากให้มองปัจจัยต่างๆ และมองความเสี่ยงไว้ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ เพราะแม้ว่า OPEC จะบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นว่าจะลดกำลังการผลิตลง แต่บรรดาประเทศสมาชิกจะยินยอมพร้อมใจลดการผลิตไปด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการละเมิดข้อตกลงและผลิตเกินโควต้าให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง นั่นยังไม่นับโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกับประเทศที่ได้รับข้อยกเว้นให้คงกำลังการผลิตดังเดิมได้อย่างอิหร่าน  ลิเบียและไนจีเรีย

อีกประเด็นที่ยังต้องจับตาดู คือ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันจากหินน้ำมัน (Shale Oil) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเข้ามากดดันราคาน้ำมัน เนื่องจากการยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบเอื้อให้สหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันส่งออกได้ เมื่อผนวกกับการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากต้นปีและขยับมายืนอยู่ในระดับที่ สามารถผลิต Shale oil ได้อย่างคุ้มทุน จึงเป็นปัจจัยหนุนให้สหรัฐฯ กำลังมาเร่งการผลิตอีกครั้ง สะท้อนชัดในตัวเลข หลุมขุดเจาะในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 522 หลุม จากจำนวนเพียง 404 หลุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ที่มา : Baker Huge) นอกเหนือจากสหรัฐฯ  แล้ว ด้านรัสเชียเองก็กลับมาผลิตน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำลังผลิตสูงถึง11.11ล้านบาร์เรลต่อวัน  ทั้งยังมีแรงหนุนด้วยการลงทุนเพิ่มเติม ค่าเงินรูเบิ้ลที่อ่อนตัวลง และผลประโยชน์ทางภาษีที่สนับสนุนการผลิตน้ำมัน

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยที่ยังทิ้งไปไม่ได้คือ ความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบาง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการน้ำมันยังมีไม่มากเท่าที่ควร ขณะเดียวกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะกระทบต่อราคาน้ำมัน ซึ่งยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ บลจ. แอสเซท พลัส คาดการณ์กรอบราคาน้ำมันปลายปีนี้ที่ 45 - 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมองว่าราคาน้ำมันจะถูกผลักดันโดยจากความไม่แน่นอนในการบังคับใช้โควต้าการผลิตของ  OPEC และการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯและรัสเชียที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีครับ