posttoday

โปรดติดตามตอนต่อไป

13 กันยายน 2559

โดย รัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

โดย  รัชต์  โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

สวัสดีครับ ตลอด 3 ไตรมาสนี้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกเผชิญความผันผวนมาหลายระลอก ประเด็นที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามกันตั้งแต่ต้นปีไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนถดถอย การดำเนินนโยบาย QE และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กระทั่งผลประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักรก็เข้ามาเขย่าตลาดไปถ้วนทั่ว และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ก็ยังมีประเด็นทิ้งทวน 2 ประเด็นสำคัญจากสหรัฐอเมริกาที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามอง นั่นคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งยังไม่มีกรอบเวลาแน่ชัด และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน นี้

ถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ในการประชุมประจำปี ที่เมือง Jackson Hole เมื่อปลายเดือนพอจะสรุปได้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายประการในห้วงที่ผ่านมาทั้งตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ที่ได้ตั้งไว้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นอีกที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า หาก Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จริง ก็ยังไม่น่าจะมีข่าวอะไรออกมาในการประชุม FOMC ประจำเดือนกันยายน ขณะที่เดือนตุลาคมจะเริ่มเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงคาบเกี่ยวสำคัญกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี Fed มักจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินสำคัญใดๆ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เดือนธันวาคมอาจเป็นเป้าหมายสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งท้ายปีนี้ หรืออาจขยับไปเป็นไตรมาส 1 ของปีหน้า

อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบโดยตรงต่อนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกาทั้งยังจะส่งผลสืบเนื่องไปยังตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในอนาคต คือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งผู้ลงชิงชัยทั้ง 2 ท่านมีนโยบายที่ต่างกันไปพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศที่นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต มีท่าทีเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มุ่งไปที่การปกป้องประโยชน์ของผู้ผลิตในประเทศ โดยมีแนวคิดเรื่องการกีดกันการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างชัดเจน ทั้งยังไม่นับประเด็นพาดพิงที่อาจสร้างความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจอาจเป็นผลดีและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่ยังเป็นข้อกังวลว่าผลในระยะยาวสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ จะเป็นเช่นไร  และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกขนาดไหน  แม้ผลจากโพลจะชี้ว่ามาดามคลินตันยังมีคะแนนนำอยู่ก็อาจจะยังวางใจไม่ได้เสียทีเดียวว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโพล และยังมีประเด็นที่ต้องติดตามดูต่อไปอีกว่า พรรคใดจะได้ครองเสียงข้างมากในสภา ทั้งฟาก สส. และ สว. เพราะหากผลกลายเป็นว่า พรรครีพับลิกันได้ครองที่นั่งในสภาส่วนใหญ่ ฮิลลารี คลินตันก็คงเจอโจทย์ในการทำงานที่ไม่ง่ายนักเหมือนที่ประธานาธิบดีโอบามาเองเคยเผชิญในสภามาก่อน

2 ประเด็นสำคัญที่ผมพูดถึงไปนั้น เป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดนะครับ เพราะจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายพอสมควร โดยเฉพาะที่จะไหลเข้ามายังตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของหุ้นในตลาดเกิดใหม่ซึ่งสะท้อนในผลตอบแทนจากดัชนี  MSCI Emerging Markets อยู่ที่ 16.76% (ที่มา: Bloomberg ณ 8 ก.ย. 2559) ขณะเดียวกันก็มีเงินไหลเข้ามาในตลาดนี้มากโดยตั้งแต่ต้นปี iShares MSCI Emerging Markets ETF มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาที่ 6,720ดอลลาร์สหรัฐฯ  และ iShares JP Morgan Emerging Market Bond ETF ที่ 4,523.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ  (ที่มา: FactSet Research ณ 8 ก.ย. 2559) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ยังมีความน่าสนใจเนื่องจากราคายังไม่แพงเกินไปนักและยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต
ส่วนการกระจายสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง  อาจเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 14%  หุ้นไทย 35%  ตราสารหนี้ในประเทศ 28% ตราสารหนี้ต่างประเทศ 14% และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น น้ำมัน ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 5% และถือเงินสด 4%  Description: https://ssl.gstatic.com/ui/v1/icons/mail/images/cleardot.gif

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะปัจจัยที่ต้อง “โปรดติดตามตอนต่อไป” ยังมีอยู่เสมอ  ผมจึงย้ำกับท่านนักลงทุนอยู่เสมอเช่นกันว่า เรายังต้องติดตามสภาวะตลาดกันอย่างใกล้ชิด และต้องอาศัยการจับจังหวะลงทุน (Timing) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจท่ามกลางตลาดที่ยังมีความผันผวนสูงในโค้งสุดท้ายของปีนี้ครับ

ผู้ลงทุน “โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”