posttoday

ภาษีกับแอลกอฮอล์(ตอนที่ 2)

08 มิถุนายน 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความที่แล้ว ผมเขียนถึงสถิติที่ประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้เสียชีวิต ว่าเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (ควรภูมิใจกันไหมครับ? ) เรื่องการขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และสำนึกในการอยู่ร่วมกันในสังคม แล้วมาจบด้วยเหตุการณ์ฉาวๆ เมื่อเร็วๆนี้ เรื่องการทำร้ายร่างการครอบครัวนักท่องเที่ยวอังกฤษที่หัวหิน และการรุมทำร้าย และฆ่าชายพิการ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะตระหนักถึงอันตรายของเรื่องเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขาดสติจากการเสพสุรา หรือของมึนเมา ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ยิ่งฤดูร้อนปีนี้ก็ร้อนมหาโหดจริงๆ อารมณ์คนก็ยิ่งร้อนตามไปด้วย ถ้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาดูแลจัดการออกมาตรการกฎระเบียบ ต่างๆ รวมทั้งเพิ่มภาษีสรรพสามิตรกับเครื่องดื่มของมึนเมา ปัญหาเหล่านี้ก็ยังจะเห็นซ้ำซากในสังคมไทยอีก บางครั้งก็แปลกใจว่ารัฐบาลกี่ชุดกี่ชุดที่ผ่านมา ทำไมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ตัวเลขอันดับ 2 ของโลกที่ไทยเราได้มาจากการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่รู้สึกเหมือนถูกประชาคมตบหน้าฉาดใหญ่อย่างรุนแรงเลยหรือครับ ผมเองทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดการยังอายจนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

รัฐบาลควรจะมีมาตรการป้องปรามให้เข้มข้นมากขึ้นกว่านี้โดยผมขอเสนอดังนี้ครับ

1.ห้ามขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บนถนนโดยเด็ดขาด ลองมาดูแถวอโศก เปิดเป็นบาร์เบียร์บนฟุตบาทริมถนนอโศก บริเวณปากซอยคายบอยกันอย่างโจ่งครึ่ม เทศกิจตาบอดหรือไง หรือมีอะไรติดคออยู่ครับ

2.ห้ามมีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยู่ภายในห้องโดยสารของรถยนต์ทุกชนิด

3.ผู้ขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ถ้าทำผิดจากเรื่องการเสพสุราครั้งที่ 2 จะถูกยึดใบขับขี่ และไม่สามารถจะขอใบขับขี่อีกตลอดชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ แต่เรื่องการติดสินบาทคาดสินบนของเราก็ใช่ย่อย ขนาดล่าสุดปีใหม่ที่ผ่านมาคสช.ออกกฎเข้มข้นเรื่องเมาแล้วขับจับหนักปรับหนัก กลับกลายเป็นว่าด่านก็เรียกเก็บเงินหน้างานหนักขึ้นแค่นั้น (เดิมจ่าย 2000-5000 เป็น 10000-20000)จากที่ฟังคนรู้จักได้เจอมา  เมื่อเราลองไปดูประเทศที่เจริญแล้ว มีตัวเลขด้านอุบัติเหตุไม่สูง เพราะตำรวจในประเทศเหล่านั้นเขาเข้มงวดมาก ถ้าเจอและทำผิดจริงจะเรื่องใหญ่ ไม่มีออมชอม ประชาชนจึงเกรงกลัวกฎหมายและตำรวจมาก ยกตัวอย่าง ที่ญี่ปุ่นกฎหมายเรื่องเมาแล้วขับที่ออกมาล่าสุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ถ้าตรวจเจอ คนขับโดนปรับ ประมาณ 5 แสนเยน คนนั่งโดน 3 แสนเยน

4.ผู้ขับขี่ยวดยานแล้วชนคนตาย หรือเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นต้องเสียชีวิต จะต้องรับโทษเปรียบเสมือนฆ่าคนตายในกรณีอื่นๆ ไม่มีการเกี่ยเซี้ยตกลงกันระหว่างครอบครัวของคนตายกับผู้ขับขี่เป็นอันขาด

5.ควบคุมให้ผู้ขับขี่ยวดยานสาธารณะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่อนุญาตให้ขับรถต่อเนื่องได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องพักไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง จึงจะขับต่อได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง ในรอบ 1 วัน ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ผู้ขับขี่ก็คงจะขับเกินจำนวนชั่วโมงเป็นแน่ ดังนั้น เส้นทางรถยนต์ที่วิ่งเกิน 4 ชม.บริษัทรถทัวร์จะต้องมีคนขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะอย่างน้อย 2 คนขึ้นไปต่อเที่ยวรถ 1คัน

6.กำหนดอายุของใบขับขี่รถยนต์สาธารณะให้สั้นลงจาก 3 ปี เป็น 2 ปี และต้องมีการสอบทั้งข้อเขียน และการขับรถในการต่ออายุ ไม่ว่าใบอนุญาตจะหมดอายุมานานแค่ไหนก็ตาม เพราะว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหลักๆส่วนใหญ่มาจากฝีมือผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ดังนั้นการเข้มงวดคุณสมบัติผู้ที่จะมาขับขี่รถยนต์สาธารณะจะต้องมากขึ้น

ในบทความหน้า ผมจะพูดถึงการขึ้นภาษีสรรพสามิต เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่มีผลต่อสังคม และเศรษฐกิจไทยครับ