posttoday

รัฐเล็งรื้อประกันภัยข้าวนาปี

14 ตุลาคม 2560

ธ.ก.ส.-คลัง-ธปท.ระดมสมองหาแนวทางรับประกันข้าวโพด โคนม พร้อมหาวิธีจูงใจให้ชาวนาร่วมจ่ายเบี้ยประกันภัยข้าวปีหน้า

ธ.ก.ส.-คลัง-ธปท.ระดมสมองหาแนวทางรับประกันข้าวโพด โคนม พร้อมหาวิธีจูงใจให้ชาวนาร่วมจ่ายเบี้ยประกันภัยข้าวปีหน้า

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบประกันภัยข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นการลดภาระงบประมาณ โดยเบื้องต้นจะนำพืชชนิดอื่นเข้าร่วมโครงการด้วย เช่น ข้าวโพดและโคนม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้มีการช่วยเหลือข้าวโพดในรูปแบบอื่น ซึ่งเป็นการนำร่องมาแล้ว โดยใช้ปริมาณดัชนี น้ำฝน และต้องมีพื้นที่ในเอกสารสิทธิ เบื้องต้นอาจใช้รูปแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นภาคอีสานและภาคกลาง โดยจะต้องสรุปรูปแบบให้ได้ในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในฤดูกาลผลิตหน้า

นอกจากนี้ ยังต้องหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ถึงแนวทางการจ่ายเบี้ยประกันของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว หลังจากรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้จ่ายเบี้ยด้วยส่วนหนึ่ง ในฤดูกาลผลิตหน้า โดยรูปแบบยังไม่มีการสรุป แต่เบื้องต้นมี 2 รูปแบบที่ต้องพิจารณา คือ ความคุ้มครองเท่าเดิมเหมือนกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2560/2561 ไร่ละ 1,260 บาท และสิทธิเหมือนเดิม แต่จะพิจารณาเรื่องของสัดส่วนการจ่ายเบี้ยระหว่างรัฐบาล ธ.ก.ส.และเกษตรกรใหม่

สำหรับรูปแบบที่ 2 อาจเพิ่มในส่วนของวงเงินคุ้มครองจาก 1,260 บาท/ไร่ แต่ต้องดูผลกระทบอาจทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้เบี้ยประกันปรับสูงขึ้น โดยในส่วนนี้จะเป็นแบบภาคสมัครใจของเกษตรกร และจะมีการกำหนดการจ่ายเบี้ยอีกครั้งว่าคิดอย่างไร

นายอภิรมย์ กล่าวว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2560/ 2561 ปัจจุบันมีการจ่ายค่าสินไหมไปแล้ว 224 ล้านบาท คาดว่าการจ่ายค่าสินไหมในปีนี้จะสูงมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากมีเกษตรกรประสบภัยจากน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย อย่างใน จ.สกลนคร ขอนแก่น และมหาสารคาม ประสบปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 23.7 ล้านไร่ จำนวน 1.5 ล้านราย เหลือเกษตรกรภาคใต้ที่จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 2560 จากปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการ 27.2 ล้านไร่ จำนวน 1.57 ล้านราย ค่าสินไหม 819 ล้านบาท